หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน

โรคแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

หัวใจทำหน้าที่บีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆโดยไปตามหลอดเลือด ความดันคือแรงดันของเลือด กระทำต่อผนังหลอดเลือดจะมีสองค่าคือขณะที่หัวใจบีบตัวเรียกเรียก systolic และขณะหัวใจคลายตัวเรียก diastolic ดังนั้นความดันของคนจะมีสองค่าเสมอคือ systolic/diastolic ซึ่งจะเขียน 120/80 มม.ปรอท ยิ่งความดันโลหิตสูงเท่าใดก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากขึ้น เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจโต หัวใจวาย พบว่าความดันโลหิตsystolic ที่เพิ่มขึ้นทุก 20 มม.ปรอท และความดันโลหิต diastolicที่เพิ่มขึ้น 10 มม.ปรอท  จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ความดันของคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เช่นขณะวิ่งความดันจะขึ้น ขณะนอนความดันจะลง การเปลี่ยนนี้ถือเป็นปกติ สำหรับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง ความดันจะสูงกว่าค่าปกติตลอดเวลา หากไม่รักษาจะก่อให้เกิดปัญหาดังนี้

โรคแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงที่พบได้

หลอดเลือดแดงแข็ง arteriosclerosis

ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่งของการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง และตีบหาก โดยมีการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด หากไขมันในเลือดสูง จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบเร็วขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไปพอเกิด โรคหัวใจหรือโรคอัมพาต อ่านเรื่องหลอดเลือดแดงแข็ง

การเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน heart attack

การเกิดโรคหัวใจแบบปัจจุบันอาจจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งจะมีอาการที่สำคัญคือเจ็บหน้าอก หรือหมดสติ หรืออาจจะมีอาการใจสั่นเนื่องจากหัวใจเต้นผิดปกติ บางท่านอาจจะมาด้วยหัวใจเต้นสั่นพริ้ว

กล้ามเนื้อหัวใจวาย

เมื่อความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัวขึ้นมา หากหัวใจยังบีบตัวได้ตามปกติก็ไม่มีปัญหา หัวใจวายจะเกิดได้ 2 กรณีคือ กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวได้อย่างเพียงพอ หรือกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถขยายตัวในช่วงคลายตัว diastole ทำให้เลือดกลับหัวใจน้อย อ่านเรื่องหัวใจวาย

หัวใจโต

หัวใจโต ความดันโลหิตสูงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา และหัวใจโตขึ้น ถ้าหัวใจทำงานไม่ไหวเกิดหัวใจวายได้

โรคไตเสื่อม

โรคไต หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ หน้าที่การกรองของเสียจะเสียไปเกิดไตวาย และสามารถตรวจปัสสาวะพบ มีไข่ขาวในปัสสาวะ การรักษาต้องล้างไตหรือเปลี่ยนไต

การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง stroke

เมื่อหลอดเลือดแดงตีบอาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดหลอดเลือดแดงที่ตีบ [thrombotic stroke ] หรือเกิดจากหลอดเลือดสมองแตก [hemorrhagic stroke]

 

เคล็ดลับในการป้องกันโรคหัวใจและอัมพาต

จะต้องรู้ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่

ลดปัจจัยเสี่ยง เช่นการรักษาความดัน รักษาโรคเบาหวาน

ต้องรู้สัญญาณเตือนภัยของโรคหัวใจ สัญญาณเตือนภัยของอัมพาต

ต้องรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดสัญญาณเตือนภัย

 

การรักษาความดันโลหิตสูง การป้องกันความดันโลหิตสูง