การรักษาระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน

ในระยะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน ควรเริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้พบว่าการให้การรักษายิ่งเร็วเท่าไรก็จะสามารถควบคุมการอักเสบได้เร็วเท่านั้น ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะข้ออักเสบเฉียบพลันมีหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีที่ใช้แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายผู้ป่วยและความนิยมของแพทย์

  1. ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs:NSAIDs) อ่านที่นี่

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการระงับการอักเสบ และสามารถใช้ได้ในทุกระยะของข้ออักเสบ ยากลุ่มนี้จึงเป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ยากลุ่มนี้ ได้แก่ indomethacin, naproxen, diclofnac, piroxicam, meloxicam เป็นต้น ขนาดของยาที่ใช้ควรเป็นขนาดสูงสุดที่ใช้ระงับการอักเสบ เมื่อให้ยาไปประมาณ 1-3 วัน ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นควรพิจารณาลดขนาดยาลง ผลข้างเคียงที่สำคัญของยากลุ่มนี้ คือ การระคายกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารเป็นแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และอาจทำให้หน้าที่การทำงานของไตบกพร่อง ในรายที่มีปัญหาด้านกระเพาะอาหารอาจหลีกเลี่ยงไปใช้ยา celelcoxib หรือ etoricoxib แต่มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารน้อยกว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในรายที่มีหน้าที่การทำงานของไตบกพร่อง และมีปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

  1. ยาโคลซิซีน (Colchicine) อ่านที่นี่

โดยทั่วไปยา colchicine จะออกฤทธิ์เร็วหากใช้ภายใน 24-28 ชั่วโมงจากข้อเริ่มมีการอักเสบ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาที่พบว่าการให้ยาขนาดที่ต่ำลง คือ ขนาด 1.8 มก./วัน (3 เม็ด) ในวันแรก ให้ประสิทธิผลเท่ากับการได้รับยาขนาด 4.8 มก./วัน (8 เม็ด) ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาในขนาดสูงในวันแรกอีกต่อไป เมื่อให้ยาไป 1-3 วันแล้วหากผู้ป่วยตอบสนองดีจึงค่อย ๆ ลดขนาดยาลงตามลำดับ ผลข้างเคียงที่สำคัญของยา colchicine คือ ท้องร่วง ควรระวังการใช้ยานี้ในรายที่มีหน้าที่การทำงานของไตบกพร่อง ผู้ที่มีโรคตับชนิดที่ไม่สามารถขับน้ำดีออกมาได้ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว

  1. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

เป็นยาที่มีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบได้ดี ไม่มีผลต่อกระเพาะอาหารและไต แต่อาจมีผลข้างเคียงเช่น การทำให้ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นบ้าง นอกจากนี้การใช้ในระยะยาวยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกบาง กระดูกตายขาดเลือด ผิวหนังบาง ติดเชื้อง่าย ตาเป็นต้อกระจก และกดการทำงานของต่อมหมวกไต เป็นต้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานโดยไม่จำเป็น การบริหารยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มีการบริหาร 2 วิธี คือ

  • การฉีดยาเข้าช่องข้อ เหมาะสำหรับใช้ในกรณีมีข้ออักเสบที่เป็นข้อใหญ่เพียง 1-2 ข้อ และมีอาการรุนแรงมาก หรือในรายที่ใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ colchicine ไม่ได้ (เช่นมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือภาวะไตทำงานบกพร่อง) หรือได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ขนาดที่ใช้คือยา triamcinolone acetonide 20-40 มก. ขึ้นกับขนาดข้อ ข้อควรระวังคือจำเป็นต้องแยกข้ออักเสบจากการติดเชื้อออกไปก่อน
  • การให้ยารับประทานหรือชนิดฉีดทางหลอดเลือดดำ พิจารณาในกรณีที่มีข้ออักเสบหลายข้อ (polyarthritis) และมีข้อห้ามต่อการใช้ยาค้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือ colchicine (เช่นมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือภาวะไตทำงานบกพร่อง) หรือได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยทั่วไปจะให้ยาขนาดเทียบเท่ายา prednisolone 15-30 มก./วัน เมื่อให้ไป 2-3 วัน และผู้ป่วยอาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ พิจารณาลดขนาดยาลง

อ่านยารักษาโรคเกาต์