หวัดนกคืบใกล้คน สัตว์ 98 ชนิดติดเชื้อ


 

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดตัวโครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่า มูลค่า 38 ล้านดอลลาร์ ต่อต้านภัยคุกคามจากโรคไข้หวัดนกในเอเชีย-แปซิฟิก

ด้านผู้แทน WHO เผย ไวรัสหวัดนกเป็นภัยคุกคามที่ใกล้ตัวคนมากขึ้น พบสัตว์ปีก 88 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด ติดเชื้อไวรัส H5N1 ระบุตัวเลขล่าสุดมีคนตายจากหวัดนกแล้ว 98 ราย
ฝ่ายเลขาฯอาเซียนยอมรับ เป็นกังวลกับสถานการณ์หวัดนกในอินโดนีเซียซึ่งยังขาดประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

ADB ร่วมกับพันธมิตรเปิดตัวโครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่า 38 ล้านดอลลาร์ ชี้การแพร่ระบาดจากไวรัสหวัดนก H5N1 อาจทำให้เกิดความเสียหายสูงถึง 297 ล้านดอลลาร์ ภายใน 1 ปี จึงตั้งโครงการนี้ขึ้น จากเงินกองทุนจำนวน 470 ล้านดอลลาร์ ที่ ADB ประกาศเตรียมไว้สำหรับต่อสู้กับโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีก

กองทุนนี้มาจากกองทุนกู้ยืมแบบผ่อนปรนของ ADB 25 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนพิเศษแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ล้านดอลลาร์ และจากกองทุนให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคของ ADB อีก 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมืออุปกรณ์ ยา และบริการต่างๆ

ทั้งนี้ได้เตรียมเงิน 14.2 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับความต้องการเร่งด่วนของประเทศต่างๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินในการควบคุมการแพร่ระบาดและความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อนุมัติเงินช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลอาเซอร์ไบจานเป็นประเทศแรก

ดร.วิลเลียม อัลดิส ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้มีเชื้อโรคไวรัสหวัดนก H5N1 แพร่กระจายอยู่ในสัตว์ปีก 88 ชนิด ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด โดยพบการติดเชื้อไวรัสหวัดนกทั้งในสัตว์และในคนแล้วใน 37 ประเทศทั่วโลก และมีการติดเชื้อไวรัสหวัดนก H5N1 ในคน จำนวน 177 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 98 ราย คิดเป็น 55% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

"ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่ามีการกลายพันธุ์หรือแพร่กระจายเชื้อไวรัส H5N1 ระหว่างคนสู่คน" ดร.วิลเลียมกล่าว

รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศที่ยังไม่เคยมีการติดเชื้อไวรัสหวัดนกมาก่อน เช่น การติดเชื้อ H5N1 ในเป็ดในแคเมอรูน ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 ในทวีปแอฟริกา และพบการติดเชื้อหวัดนกในไก่ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

"เช้านี้ (วันที่ 16 มี.ค.) เราได้ส่งคณะทำงานชุดแรกไปพม่าแล้ว พร้อมกับอุปกรณ์ฉุกเฉิน โดยรายงานที่ได้จากคณะทำงานชุดนี้ จะมีผลต่อการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อหวัดนกในพม่า และเป็นข้อมูลกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือและควบคุมโรคต่อไป" ดร.เฮอ ซางจุง ผู้ช่วยผู้อำนวยการและหัวหน้าสำนักงานภูมิภาค FAO ประจำกรุงเทพฯกล่าว

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า พบการติดเชื้อรายใหม่ในเหยี่ยว ในพื้นที่เมือง Naestved ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโคเปนเฮเกน 70 กิโลเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความชัดเจนว่าเป็นสายพันธุ์ H5N1 หรือไม่ ขณะที่บีบีซี ออนไลน์ รายงานในวันเดียวกันว่า มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสหวัดนกเป็นรายที่ 3 ในอาเซอร์ไบจาน และเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานพบสุนัขเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสหวัดนกในเมืองบากู เมืองหลวงอาเซอร์ไบจาน

ซึ่งนับเป็นการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกครั้ง หลังจากพบแมวในเยอรมนีติดเชื้อไวรัสหวัดนก H5N1 มาแล้ว 3 ราย

"ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการป้องกันการแพร่ระบาด ได้แก่ การจำกัดการคุกคามที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะในขณะที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสัตว์ปีก" นายอินดู บาห์สฮัน ประธานคณะทำงานเอดีบีเกี่ยวกับโรคหวัดนกกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.อาซามิ ไม อาไคร์ ผู้ช่วยพิเศษเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงอยู่ เนื่องจากมีประชาชนในชนบทจำนวนมากที่ขาดความรู้ ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และรัฐบาลก็ขาดงบประมาณที่จะมาจัดสรรให้ค่าชดเชยแก่ผู้เลี้ยงไก่ จึงทำให้ขาดความร่วมมือจากชาวบ้านที่ต้องการค่าชดเชย และนี่คือปัญหาที่รัฐบาลอินโดนีเซียเผชิญอยู่

ข่าวจากมติชนประจำวันที่ 22 มีนาคม 2549

เพิ่มเพื่อน