หวัดนกตุรกีเสี่ยงกลายพันธุ์WHOระดมกำลัง-เงินรับมือ




ไข้หวัดนก" ในตุรกีส่อเค้าบานปลาย หน่วยงานด้านสาธารณสุขประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 18 รายจากเดิม 15 ราย หวั่นไวรัสไข้หวัดนกกลายพันธุ์สู่คน ธนาคารโลกอัดฉีดงบฯช่วย 500 ล้านเหรียญ

สถานการณ์ "ไข้หวัดนก" ในตุรกีทำท่าจะบานปลายเสียแล้ว เมื่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขของตุรกีได้ออกมาประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกอย่างเป็นทางการเพิ่มเป็น 18 ราย จากเดิม 15 ราย หลังจากผลการตรวจสอบเบื้องต้นยืนยันว่า เด็กหญิง 2 รายที่มีประวัติสัมผัสไก่ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแถบตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี และเด็กหญิงวัย 11 ขวบจากเมืองโดกูบายาซิทที่เสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อน ติดเชื้อไวรัส H5N1
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้ง 18 ราย มีผู้เสียชีวิตจากไวรัส H5N1 แล้ว 3 ราย ซึ่งเด็กทั้ง 3 รายนี้เป็นพี่น้องกัน โดยผลจากห้องแล็บยืนยันว่า เด็กหญิงวัย 11 ขวบเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนก ตามพี่สาววัย 15 ปี และพี่ชายวัย 14 ปี ซึ่งเป็นเหยื่อรายที่ 1 และ 2 โดยเชื่อกันว่า เด็กทั้ง 3 รายไปเล่นซากไก่ที่ตายด้วยโรคไข้หวัดนก

สำหรับรายงานการติดเชื้อไวรัสหวัดนกในตุรกีพบว่า มีการติดเชื้อใน 11 จังหวัด จากทั้งหมด 81 จังหวัด และเข้าข่ายต้องสงสัยเฝ้าระวังอีก 14 จังหวัด

แต่ที่น่าวิตกกว่านั้น คือ เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้เสียชีวิต 2 รายแรกในตุรกีไปตรวจสอบ กลับพบความผิดปกติในยีนของไวรัสจากตัวอย่าง 1 ใน 2 ที่นำไปตรวจสอบ

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อ้างถึงผลการตรวจสอบจากสถาบันเอ็มอาร์ซีเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ในกรุงลอนดอนที่พบว่า เกิดการกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสสามารถติดกับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายกว่าเซลล์ของสัตว์ปีก ซึ่งเท่ากับว่า มีโอกาสที่ไวรัสจะเปลี่ยนมาแพร่เชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

"ไมค์ เปอร์ดิว" ผู้ชำนาญเรื่องไวรัสของ WHO กล่าวว่า เราสันนิษฐานว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นขั้นตอนเล็กๆ ในการที่ไวรัสพยายามจะดัดแปลงเพื่อเข้าไปอยู่ในคน แต่นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเดียว และเป็นเรื่องยากที่จะใช้เป็นข้อสรุปทั้งหมด ต้องให้เวลา และตรวจสอบในส่วนอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันอีก

"เปอร์ดิว" กล่าวด้วยว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขขององค์การสหประชาชาติยังไม่ได้ส่งสัญญาณในการค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เนื่องจากเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงยีนในลักษณะนี้มาก่อน พบจากการตรวจสอบตัวอย่างไวรัสจากทางตอนใต้ของจีนในปี 2546 และไม่พบผลกระทบรุนแรง

"แต่หากเราพบการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 50% จึงจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า ไวรัสกำลังพยายามจะดัดแปลงเพื่อแพร่ระบาดในมนุษย์ และจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวได้เพิ่มความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส H5N1 ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์ไปสู่รูปแบบที่ง่ายต่อการแพร่ระบาดในมนุษย์ คล้ายกับเมื่อครั้งที่ไวรัสในลักษณะคล้ายกันนี้ที่เคยแพร่ระบาดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 ล้านคนในช่วงปี 2461

ส่วนในที่ประชุมนานาชาติเพื่อการต่อสู้กับ ไข้หวัดนกที่โตเกียวเมื่อวันที่ 12 ม.ค. องค์การอนามัยโลกระบุว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศที่มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสหวัดนกจำเป็นต้องใช้กำลังทหารและตำรวจกว่า 120,000 คนเพื่อทำหน้าที่ดูแลสถานที่ที่ประกาศให้มีการกักบริเวณ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสหวัดนก ใน 19 แห่งที่เกิดการติดเชื้อไวรัสหวักนกในสัตว์ปีกแล้ว

ด้านที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก นายฮิโตชิ โอชิตานิ กล่าวว่า การใช้กองกำลังของทหารและตำรวจเพื่อควบคุมการกักบริเวณการติดเชื้อ นอกจากจะสร้างความกังวลแก่ฝ่ายปฏิบัติในเรื่องของกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านไวรัสอย่างไร ก็ยังเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดอยู่ในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ WHO ยังยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่หลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าเกิดการติดเชื้อไวรัสหวัดนกระหว่างคนสู่คนในตุรกี

การตื่นตัวและกังวลกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหวัดนกที่จะเกิดการกลายพันธุ์จากคนสู่คน หลังการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในตุรกีอย่างรวดเร็วจาก 15 เป็น 18 คนภายใน 1 สัปดาห์ ก็ทำให้องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนนานาประเทศว่า โลกจำเป็นต้องใช้เงิน 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้

ขณะที่ธนาคารโลกก็ยืนยันถึงกองทุนเพื่อป้องกันและต่อสู้กับการแพร่เชื้อไวรัสหวัดนกจำนวน 500 ล้านเหรียญ ซึ่งจะนำออกมาช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่พบการติดเชื้อเพื่อใช้ซื้อยาต้านไวรัสและป้องกันการขยายตัวของเชื้อโรค โดยในวันที่ 17-18 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมนานาชาติเพื่อระดมทุนจากประเทศผู้ให้บริจาค ณ กรุงปักกิ่ง

เพิ่มเพื่อน