/

โรคแทรกซ้อนของโรคเอสแอลอี SLE

 

การติดตามการรักษา

ควรมีการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปหากโรคอยู่ในระยะสงบควรติดตามอย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน โดยในแต่ละครั้งที่พบผู้ป่วยแพทย์ควรประเมินว่าอาการเดิมที่ผู้ป่วยเคยเป็นอยู่นั้นดีขึ้น คงเดิมหรือเป็นมากขึ้น หรือมีอาการแสดงใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนและต้องการการตรวจเพิ่มเติมการตรวจทางห้องปฏิบัติการควรมี

  • การตรวจปัสสาวะ หากพบว่ามีระดับโปรตีน และเม็ดเลือดในปัสสาวะมากขึ้นอาจส่งตรวจหาปริมาณโปรตีนจากการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง
  • ตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด
  • ตรวจการทำงานของไต และตับ เนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาหลายชนิดอาจมีผลต่อไขกระดูก การทำงานของไตและตับ การตรวจดังกล่าวยังช่วยประเมินอาการกำเริบของโรคของระบบเม็ดเลือด และไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่พบมีการกำเริบของโรคได้บ่อย
  • นอกจากนี้อาจตรวจตัวชี้วัดการอักเสบ เช่น ESR (erythrocyte sedimentation rate) ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบอาจพบมีค่า ESR ที่สูงขึ้น เมื่อมีสิ่งที่ทำให้สงสัยว่ามีโรคกำเริบจึงจะส่งตรวจอย่างอื่นต่อไป เช่น เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีระดับฮีโมโกลบินที่ลดลงสงสัยมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากภูมิต้านทาน ควรส่งตรวจดู Coombs test
  • ตรวจเลือดในอุจจาระเพื่อหาสาเหตุของภาวะโลหิตจางต่อไป
  • ระดับคอมพลีเมนท์หรือ anti-ds DNA antibody ต่อไปเพื่อช่วยสนับสนุนนภาวะโรคกำเริบ เป็นต้น

การรักษาป้องกันภาวะแทรกซ้อน

การดูแลผู้ป่วยโรคSLEควรคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว และให้การรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนนั้น

การป้องกันภาวะติดเชื้อ

เนื่องจากผู้ป่วยโรคSLEต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในขนาดสูงและในผู้ป่วยบางรายต้องได้รับยากดภูมิต้านทานที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ ดังนั้นจึงเพิ่มโอกาสการติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรียปกติ และเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ปอดบวมจาก Pneumocystis carinii (PCP) หรือมีการกระจายของ Strongyloides Stercoralis
ดังนั้น ก่อนการใช้ยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจประเมินว่าไม่มีภาวะติดเชื้อ ตรวจอุจจาระหาพยาธิ ตรวจภาพรังสีทรวงอกในรายที่มีประวัติที่สงสัยภาวะติดเชื้อวัณโรค ในผู้ป่วยที่ได้รับยา cyclophosphamide นั้นมีการแนะนำการให้ยา cotrimoxazole เพื่อป้องกัน PCP แต่ในโรคSLEอาจไม่ได้พิจารณาให้ยา cotrimoxazole ในผู้ป่วยทุกรายเนื่องจากเหตุผลคือ ขนาดของยา cyclophosphamide ที่ให้ในการรักาโรคSLEไม่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดยา cyclophosphamide ที่ให้ในการรักษาโรคSLEไม่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของยา cyclophosphamide ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และเนื่องจากยา cotrimoxazole มีส่วนประกอบของยากลุ่มซัลฟา ซึ่งอาจกระตุ้นทำให้โรคกำเริบได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาเป็นราย ๆ ไป


การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนั้น การฉีดวัคซีนเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated vaccines) นั้นค่อนข้างปลอดภัย ยังไม่มีการศึกษาที่พบการกำเริบของโรคชัดเจนหลังการรับวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือไม่อาจพยากรณ์ได้ยากในผู้ป่วยมีอาการของโรคกำเริบ และได้รับยากดภูมิต้านทานขนาดสูง คำแนะนำของ EULAR recommendations for vaccination in adult patients with autoimmune inflammatory rheumatic diseases 2011 แนะนำการฉีดวัคซีนในขณะที่โรคสงบ ควรพิจารณาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันเชื้อ Streptococcus pneumonia ควรฉีดซ้ำทุก 5-10 ปี การฉีดวัคซีนชนิดอื่น เช่น วัคซีนป้องกันโรค Human papilloma viruses วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี แนะนำให้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป การฉีดวัคซีนที่เป็นเชื้อมีชีพ (live vaccine) เช่น วัคซีนป้องกันโรคสุกใสและงูสวัด ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรตนิโซโลนในขนาดสูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกำลังได้รับยากดภูมิต้านทาน

การป้องกันภาวะหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ

จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงโรคลุปัสอายุระหว่าง 35-50 ปีเกิดหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบสูงกว่าคนในช่วงอายุเดียวกันที่ไม่เป็นโรคSLEถึง 50 เท่า เนื่องจากผู้ป่วยโรคSLEมีปัจจัยที่ส่งเสริมภาวะหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) หลายปัจจัยอันได้แก่ ปัจจัยจากตัวโรคเอง ได้แก่ ภาวะอักเสบโดยทั่วไป ภาวะไตอักเสบซึ่งทำให้มีความดันโลหิตสูง การมีโปรตีนในปัสสาวะทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น จากยาที่ใช้ในการรักษาโรค เช่น นาคอร์ติโคสเตียรอยด์
เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งในผู้ป่วยโรคSLE จึงควรควบคุมอาการของโรคที่กำเริบให้เร็วที่สุด และใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในขนาดที่ต่ำที่สุดที่จะสามารถควบคุมโรคได้ บางการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านมาลาเรีย มีการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาต้านมาลาเรีย ดังนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรคSLEบางกลุ่มจึงแนะนำให้พิจารณายาต้านมาลาเรียในรายที่มีข้อบ่งชี้ นอกจากนี้แพทย์ควรให้การรักษาควบคุมปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดหลอดเลือดแข็งอื่น ๆ อันได้แก่ ควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง ตรวจหาโรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูงเป็นระยะเมื่อพบว่ามีความผิดปกติ พยายามให้การรักษาจนระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และปรับเปลี่ยนปัจจัยอื่น ๆ เช่น งดการสูบบุหรี่ เพิ่มการออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

ในผู้ป่วยโรคSLEนั้นการป้องกันภาวะกระดูกพรุนมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนจากหลายปัจจัย เช่น จากโรคSLEเองซึ่งผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแดด การออกกำลังกายที่ลดลงเนื่องจากภาวะเจ็บป่วย จากภาวะแทรกซ้อนของยารักษาโรคSLE เช่น การใช้ยา cyclophosphamide อาจทำให้มีประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานานซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
แนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยา prednisolone (หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอื่นที่มีขนาดยาเท่ากัน) มากกว่า 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน โดยได้รับยามานานหรือมีการวางแผนที่จะได้รับยานานกว่า 3 เดือนควรได้รับการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ได้แก่ งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ และควรได้รับแคลเซียม 1200-1500 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดี 800-1000 ยูนิตต่อวัน ในผู้ป่วยที่หมดประจำเดือนแล้วการใช้ฮอร์โมนเพศพิจารณาในรายที่มีความจำเป็น เช่น มีอาการของวัยหมดประจำเดือนร่วมด้วย แต่ต้องระมัดระวังการกำเริบของโรคและหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีภาวะแอนติฟอสโฟไลปิด การพิจารณาใหยากลุ่ม bisphosphonate จะพิจารณาเมื่อค่าจากการคำนวณโดย fracture risk assessment tool (FRAX) ตกอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก ส่วนราชวิทยาลัยแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษแนะนำการใหยากลุ่ม    bisphosphonate ในผู้ป่วยที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่การตรวจวัดมวลกระดูกต่ำกว่า -1.5 โดยผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในระยะยาวนั้นควรไดรับการตรวจมวลกระดูกทุก 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนอื่น ๆ ที่มีร่วมกัน

โรคเลือดในผู้ป่วยเอสแอลอี โรคข้ออักเสบเอสแอลอี โรคผิวหนังเอสแอลอี โรคไตเอสแอลอี