การฉีดวัคซีน ป้องกันโรค

 

วัคซีนในปัจจุบันสามารถแบ่งได้สองเกณฑ์จำแนกคือ เกณฑ์จากแนกทางการให้ยา แบ่งได้สองประเภทคือการกินและการฉีด อีกเกณฑ์จำแนกคือลักษณะของแอนติเจนที่ให้ซึ่งแบ่งออกได้เป็นวัคซีนชนิดเป็นและชนิดตาย รวมถึงยังมีทอกซอยด์อีกด้วย

ชนิดตัวตาย

วัคซีนชนิดตัวตาย (Killed Vaccine) เป็นวัคซีนวิธีการแรกๆที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ตายทั้งตัวหรือส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นแอนติเจน อาทิ แคปซูล ฟิลิ หรือไรโบโซม วัคซีนชนิดนี้ผ่านการเลี้ยงเชื้อในสภาวะที่มีความรุนแรงสูงและนำจุลินทรีย์มาฆ่าด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การใช้ความร้อน, การใช้แสงอัลตราไวโอเลต และการใช้สารเคมีอย่างฟีนอลหรือฟอร์มาลิน การใช้วัคซีนชนิดนี้ต้องมีขนาดการใช้สูง เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ตายแล้วและไม่อาจเพิ่มปริมาณในร่างกายผู้ให้วัคซีนได้ รวมถึงการออกฤทธิ์วัคซีนประเภทนี้จะสั้นซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใช้สารจำพวกแอตจูแวนต์ (Adjuvant) หรือใช้วิธีการฉีดกระตุ้นให้ระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะป้องกันโรคได้

วัคซีนตัวตายทำนำส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลินทรีย์มาทำเป็นวัคซีนนั้นเรียกว่าซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) สามารถแบ่งตามลักษณะการได้มาของแอนติเจนอาทิการสกัดแอนติเจน (antigen extract),การผลิตแอนติเจนโดยกระบวนการเทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์ และการสังเคราะห์แอนติเจนในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังมีการนำยีนของเชื้อที่ก่อโรคมาสกัดนำยีนควบคุมลักษณะการสร้างแอนติเจนมากระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีขึ้น ซึ่งยีนนั้นจะมีส่วนของโปรตีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยการนำยีนสอดแทรกเข้าไปในดีเอ็นเอของเชื้อก่อโรคนั้นด้วย

อนึ่ง ทอกซอยด์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อันเป็นพิษของแบคทีเรียก็ได้จัดกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนชนิดตัวตายด้วย โดยนำสารพิษ (toxin) มาทำให้ความเป็นพิษหมดไปแต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรคได้ซึ่งจะเป็นส่วนของสารประเภทโเภสัชอุตสาหกรรมปรตีนในทอกซิน การหมดพิษไปของทอกซินอาจตั้งทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือการใช้ความร้อนและสารเคมีในเชิง การใช้วิธีการทำให้หมดฤทธิ์วิธีการใดจำเป็นต้องตระหนักถึงความทนสภาพของแอนติเจนที่จะไม่หมดฤทธิ์ตามพิษนั้นไปด้วย ทอกซอยด์ที่ได้นิยมนำไปตกตะกอนด้วยอะลัมเพื่อให้ดูดซึมในร่างกายอย่างช้าๆ โดยฉีกเข้าทางกล้ามเนื้อ ปัจจุบันมีทอกซอย์ด์สองชนิดเท่านั้นคือทอกซอยด์ป้องกันโรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก

ชนิดตัวเป็น

วัคซีนชนิดตัวเป็น (Live Attenuated Vaccine)

ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ไม่ก่อโรคในร่างกายมนุษย์แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้โดยการคัดเลือกตัวผ่าเหล่าของจุลินทรีย์ที่มีความรุนแรงต่ำ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ การทำให้แห้ง, การเลี้ยงในสภาวะผิดปกตินอกโฮสต์, การเลี้ยงจนอ่อนฤทธิ์และการใช้เทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์เข้าร่วม ซึ่งข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ประการหนึ่งคือการสามารถเจริญและเพิ่มจำนวนในร่างกายได้ ทำให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้เป็นเวลานานและระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าในวัคซีนชนิดตัวตาย สามารถให้ในปริมาณที่น้อยได้และยังเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ดีวัคซีนชนิดตัวเป็นยังมีปัญหาหลายประการ อาทิ ความรุนแรงในการอ่อนฤทธิ์ของไวรัสคือต้องมีขนาดพอเหมาะ ความรุนแรงต่ำต้องไม่ต่ำจนกระทั่งไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ คือสูญเสียคุณสมบัติแอนติเจน และเชื้อผ่าเหล่าที่ได้รับการคัดเลือกจำต้องมีความคงตัว นอกจากนี้ปัญหาการปนเปื้อนไวรัสจากการเลี้ยงเชื้อในสภาวะอื่นอาจมีไวรัสปะปนในเซลล์ที่นำมาเลี้ยง อาทิ WI-38 ซึ่งเป็นเซลล์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงแทนเซลล์เนื้อไตลิงที่มีปัญหาการปนเปื้อนไวรัสสูง หากแต่ยังมิได้รับการยอมรับในหลายประเทศ

การให้วัคซีนชนิดตัวเป็นสองหนิดขึ้นไปในเวลาใกล้เคียงกันอาจก่อให้เกิดปัญหา "Interference Phenomenon" ขึ้น จากการไม่ตอบสนองตอบของร่างกายต่อวัคซีนตัวหลังที่ให้ เพราะวัตซีนตัวแรกก่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่ออกฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสอย่างไม่จำเพาะเจาะจง ทำให้ป้องกันวัคซีนตัวหลังที่ให้ด้วย นอกจากนี้การเก็บรักษาวัคซีนประเภทนี้ต้องเก็บในตู้เย็นหรือที่ควบคุมอุณหภูมิในช่วง 2 - 8 องศาเซลเซียสเท่านั้น

รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ การเจ็บป่วยด้านสุขภาพกายของเด็กย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กไม่มากก็น้อย ที่สำคัญอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพใจของเด็กตลอดจนสุขภาพกายและใจของผู้ดูแลเด็กอีกด้วย และแนวทางหนึ่งในการปกป้องเด็กให้เจ็บป่วยลดลง คือการส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อลดการติดเชื้อในเด็กด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรค ประเภทของวัคซีนสำหรับเด็กไทย

1.   วัคซีนพื้นฐาน หมายถึง วัคซีนที่ภาครัฐให้ความสำคัญมากและให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลภาครัฐ ได้แก่ วัคซีนบีซีจี วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ-บาดทะยักสำหรับเด็กโต วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย

2.   วัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือก หมายถึง วัคซีนที่สามารถให้เพิ่มเติมจากวัคซีนพื้นฐานเพื่อเพิ่มความครอบคลุมในการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็ก ผู้ปกครองสามารถขอรับบริการเพิ่มเติมได้ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง วัคซีนเสริมจำแนกย่อยออกได้เป็นสองประเภทคือ

2.1 วัคซีนเสริมที่ใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น หรือสะดวกในการใช้ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนที่มีการเปลี่ยนแปลงวัคซีนไอกรนจากแบบเต็มเซลล์มาเป็นแบบไม่มีเซลล์ และ/หรือเติมวัคซีนฮิบ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด เพิ่มเข้าไป วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนสำหรับเด็กโต และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น

2.2 วัคซีนเสริมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเป็นวัคซีนพื้นฐาน ได้แก่ วัคซีนนิวโมคอคคัส วัคซีนโรต้า วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนตับอักเสบเอ และวัคซีนเอชพีวี 

วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน

วัคซีนพื้นฐาน

1.   วัคซีนบีซีจี (BCG) ใช้ฉีดเข้าในผิวหนังครั้งเดียวสำหรับทารกแรกเกิด การฉีดบริเวณหัวไหล่จะดีกว่าการฉีดบริเวณสะโพก ภายใน 2-4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนจะเกิดเป็นตุ่มหนองซึ่งจะแตกออกและกลายเป็นแผลเป็น แม้ว่าจะตรวจไม่พบแผลเป็นหลังฉีดวัคซีนบีซีจี ก็ไม่แนะนำให้ฉีดซ้ำ ปัจจุบันพบอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนบีซีจีเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากเชื้อที่ใช้บรรจุในวัคซีนมีปริมาณมากเกินไป วัคซีนบีซีจีมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันวัณโรคชนิดแพร่กระจายและวัณโรคของเยื่อหุ้มสมอง แต่มีประสิทธิภาพไม่ดีนักในการป้องกันวัณโรคปอดและวัณโรคชนิดอื่น

2.   วัคซีนตับอักเสบบี (HB) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกฉีดเมื่อแรกเกิด และฉีดอีกสองครั้งเมื่อเด็กอายุ 2 และ 6 เดือน เด็กคลอดจากแม่ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบีควรฉีดวัคซีนเข็มแรกโดยเร็วที่สุด พิจารณาฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (HBIG) ร่วมด้วย และเลื่อนวัคซีนครั้งที่ 2 มาฉีดเร็วขึ้นที่อายุ 1 เดือน และเพื่อความสะดวกในการบริหารวัคซีนของสถานพยาบาลภาครัฐ ปัจจุบันมีการรวมวัคซีนตับอักเสบบีไว้ในเข็มเดียวกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTwP-HB) สำหรับใช้ในเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน ทำให้จำนวนเข็มในการฉีดวัคซีนตับอักเสบบีเพิ่มขึ้นเป็น 4 ครั้งสำหรับเด็กทั่วไป และ 5 ครั้งสำหรับเด็กคลอดจากแม่ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,000 กรัม ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีซ้ำอีกครั้งหลังเด็กอายุ 1 เดือนหรือเมื่อน้ำหนักตัวมากกว่า 2,000 กรัม โดยไม่นับการฉีดวัคซีนครั้งแรก 3.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTwP) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 5 ครั้งสำหรับเด็กอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และอายุ 4-6 ปี โดยสถานพยาบาลภาครัฐให้ใช้วัคซีน DTwP-HB แทนวัคซีน DTwP สำหรับเด็กอายุ 2, 4 และ 6 เดือน 4.   วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด (OPV) ใช้หยอดพร้อมกับการฉีดวัคซีน DTwP จำนวน 5 ครั้งสำหรับเด็กอายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และอายุ 4-6 ปี และเพื่อสนับสนุนการกวาดล้างโปลิโอให้หมดสิ้นไป ในวัน National Immunization Day (NID) มีการรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอแบบปูพรมสำหรับเด็กไทยในบางช่วงอายุ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเด็กเคยได้รับวัคซีนโปลิโอมาก่อนหรือไม่หรือเคยได้รับมาแล้วกี่ครั้ง

5.   วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อปีละครั้ง โดยปีแรกให้ฉีดสองครั้งสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี และฉีดครึ่งโด้ส (0.25 มล.) สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี สถานพยาบาลภาครัฐมีบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีและเด็กที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง 

6.   วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ใช้ฉีดใต้ผิวหนังจำนวน 2 ครั้งสำหรับเด็กอายุ 9-12 เดือน และ 4-6 ปี เนื่องจาก MMR เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น จึงมีข้อควรระวังสำหรับเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง และเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ วัคซีนที่มีเชื้อคางทูมสายพันธุ์ Urabe อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีน MMR เข็มแรกในเด็กเล็ก และเพื่อให้อัตราครอบคลุมการฉีดวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นและเพื่อป้องกันความล้มเหลวจากการฉีดวัคซีนครั้งแรก ปัจจุบันสถานพยาบาลภาครัฐได้แนะนำให้ฉีดวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 เร็วขึ้น จากเดิม อายุ 4-6 ปีเป็นอายุ 2 ปีครึ่ง พร้อมกับการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตายเข็มที่ 3

วัคซีนเสริม

1.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนที่รวมกับวัคซีนชนิดอื่น (DTP-containing vaccine) ใช้แทนวัคซีน DTwP โดยมีข้อความแตกต่างคือ

1) เติมวัคซีนบางชนิดเพิ่มเข้าไป ได้แก่ วัคซีนฮิบและวัคซีนตับอักเสบบี

2) เปลี่ยนวัคซีนโปลิโอจากชนิดหยอดเป็นชนิดฉีดเพื่อลดโอกาสในการเกิดอัมพาตหลังหยอดวัคซีนที่เรียกว่า vaccine-associated paralytic poliomyelitis (VAPP)

3) เปลี่ยนวัคซีนไอกรนแบบเต็มเซลล์ซึ่งพบภาวะแทรกซ้อนเรื่องไข้และอาการร้องกวนได้บ่อย เป็นวัคซีนชนิดไม่มีเซลล์

4) ลดจำนวนเข็มในการฉีดวัคซีน ทำให้เด็กเจ็บตัวและมารับบริการวัคซีนน้อยครั้งลง วัคซีนที่นำมาใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้งสำหรับเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน มีให้เลือกใช้ 3 แบบคือ

  • 1) DTwP-HB-Hib (Quinvaxem) เป็นวัคซีนรวม 5 ชนิด โดยเติมวัคซีนฮิบและวัคซีนตับอักเสบบีเพิ่มเข้าไป วัคซีนไอกรนเป็นชนิดเต็มเซลล์ ไม่มีวัคซีนโปลิโอ จึงต้องหยอดวัคซีนโปลิโอควบคู่ด้วย
  • 2) DTaP-IPV-Hib (Pentaxim, Infanrix-IPV/Hib) เป็นวัคซีนรวม 5 ชนิด โดยเติมวัคซีนฮิบเพิ่มเข้าไป เปลี่ยนวัคซีนไอกรนเป็นชนิดไม่มีเซลล์ เปลี่ยนวัคซีนโปลิโอเป็นชนิดฉีด และไม่มีวัคซีนตับอักเสบบี จึงต้องฉีดวัคซีนตับอักเสบบีสำหรับเด็กอายุ 2 และ 6 เดือนเพิ่มอีก 1 เข็ม หรือจะฉีดวัคซีนตับอักเสบบีเมื่ออายุ 1 เดือนแทนอายุ 2 เดือนก็ได้
  • 3) DTaP-IPV-HB-Hib (Infanrix-Hexa) เป็นวัคซีนรวม 6 ชนิด โดยเติมวัคซีนฮิบและวัคซีนตับอักเสบบีเพิ่มเข้าไป เปลี่ยนวัคซีนไอกรนเป็นชนิดไม่มีเซลล์ และเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอเป็นชนิดฉีด

2.   วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal conjugate vaccine, PCV) หรือที่รู้จักกันในชื่อวัคซีนไอพีดี ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดบวม และโรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กเล็ก วัคซีนใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 4 ครั้งสำหรับเด็กเล็กอายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน หากฉีดวัคซีน PCV หลังเด็กอายุ 6 เดือน สามารถลดจำนวนครั้งในการฉีดลงคือ อายุ 6-12 เดือนฉีด 3 ครั้ง อายุ 1-2 ปีฉีด 2 ครั้ง และอายุ 2 ปีขึ้นไปฉีดครั้งเดียว นอกจากนี้ยังมีวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ (Pneumococcal polysaccharide vaccine, PPV) ซึ่งสามารถนำมาใช้สำหรับเด็กโตที่มีอายุตั้งแต่ 1-2 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กที่มีประจำตัวบางอย่างซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือใช้เป็นเข็มกระตุ้นแทนวัคซีน PCV ครั้งที่ 4 ก็ได้ วัคซีนไอพีดีที่มีใช้คือ

  • 1) วัคซีน PCV-10 หรือ PHiD-CV (Synflorix) ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 10 สายพันธุ์ สามารถป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ่ ราคาถูกกว่าวัคซีน PCV-13 และสามารถลดจำนวนครั้งในการฉีดจาก 4 ครั้งเหลือ 3 ครั้งได้ (เรียกว่าการฉีดแบบ 2+1)
  • 2) PCV-13 (Prevnar13) ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 13 สายพันธุ์
  • 3) PPV (Pneuno23) ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 23 สายพันธุ์ แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับไม่สูงเท่ากับวัคซีนชนิด PCV นิยมใช้สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่มากกว่า

3.   วัคซีนโรต้า (RV) สามารถลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ใช้หยอด 2 หรือ 3 ครั้งโดยการหยอดครั้งแรกควรให้ก่อนเด็กอายุ 4 เดือน และควรหยอดครั้งสุดท้ายให้แล้วเสร็จก่อนเด็กอายุ 8 เดือน วัคซีนโรต้ามีให้เลือกใช้ 2 แบบคือ

  • 1) วัคซีนโรต้าชนิด 1 สายพันธุ์ (Rotarix) ใช้หยอด 2 ครั้ง ราคาของวัคซีนชนิดนี้แพงกว่าถ้าคิดต่อโด้สแต่ถูกกว่าถ้าคิดต่อคอร์ส
  • 2) วัคซีนโรต้าชนิด 5 สายพันธุ์ (Rotateq) ใช้หยอด 3 ครั้ง 1) วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงใกล้เคียงกัน

วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี

วัคซีนพื้นฐาน

1.   วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย (Killed JE vaccine) ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 3 ครั้งโดยฉีด 2 ครั้งแรกห่างกัน 1-4 สัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี และฉีดกระตุ้นอีกครั้งห่างจากเข็มแรก 1 ปี ระดับภูมิคุ้มกันมักอยู่ได้นาน 3-5 ปีขึ้นไป กรณีจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นไม่ควรให้วัคซีนเพิ่มเกิน 2 ครั้ง (รวม 5 ครั้ง) หากฉีดมากครั้งเกินไปอาจเกิดอาการข้างเคียงระยะยาวทางสมองได้ เนื่องจากในกระบวนการผลิตวัคซีนใช้สมองหนูในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส 

2.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ครั้งที่ 4 (DTwP4)   

3.   วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด ครั้งที่ 4 (OPV4) 

วัคซีนเสริม

1.   วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (Live JE vaccine) มีความแตกต่างจากวัคซีนชนิดเชื้อตายคือ

1) สามารถลดจำนวนครั้งในการฉีดวัคซีนจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง

2) วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูงและอยู่ได้นานกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย

3) วัคซีนมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากกระบวนการผลิตวัคซีนไม่ได้ใช้สมองสัตว์ในการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส วัคซีนเจอีชนิดเชื้อเป็นมีให้เลือกใช้ 2 แบบคือ

1) วัคซีน CD.JEVax ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 3-12 เดือน

2) วัคซีน Imojev ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 1 ปีขึ้นไป วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยสูงใกล้เคียงกัน และสามารถใช้เป็นเข็มกระตุ้น 1 ครั้งหลังจากฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายแล้วจำนวน 2-3 ครั้ง

2.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนที่รวมกับวัคซีนชนิดอื่น ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งที่ 4 สำหรับเด็กอายุ 18 เดือน โดยมีความแตกต่างจากวัคซีนเสริมที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 2-6 เดือนคือ ไม่ต้องเติมวัคซีนตับอักเสบบี และจะเติมวัคซีนฮิบหรือไม่ก็ได้ วัคซีนมีให้เลือกใช้ 2 แบบคือ

1) วัคซีน DTaP-IPV-Hib (Pentaxim, Infanrix-IPV/Hib)

2) วัคซีน DTaP-IPV (Tetraxim, Infanrix-IPV) เป็นวัคซีนรวม 4 ชนิด ไม่เติมวัคซีนฮิบเพิ่มเข้าไป เปลี่ยนวัคซีนไอกรนเป็นชนิดไม่มีเซลล์ และเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอเป็นชนิดฉีด

3.   วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต ครั้งที่ 4 (PCV4) หรือ PPV

4.   วัคซีนอีสุกอีใส (VZV) ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และครั้งที่ 2 สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปีขึ้นไป กรณีต้องการให้ภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างรวดเร็วสามารถให้วัคซีน 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอีสุกอีใสร้อยละ 70-90 หลังฉีดเข็มแรกและร้อยละ 95-98 หลังฉีดเข็มที่สอง และถึงแม้บางครั้งวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่อย่างน้อยวัคซีนก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) แทนวัคซีนอีสุกอีใสเข็มแรก เพราะพบอาการข้างเคียงเรื่องชักเนื่องจากไข้สูงได้บ่อย

5.   วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และครั้งที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน

วัคซีนที่แนะนำสำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี

วัคซีนพื้นฐาน

1.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ครั้งที่ 5 (DTwP5)   

2.   วัคซีนโปลิโอชนิดหยอด ครั้งที่ 5 (OPV5) 

3.   วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ครั้งที่ 2 (MMR2)

วัคซีนเสริม

1.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนที่รวมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งที่ 5 สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี โดยมีความแตกต่างจากวัคซีน DTwP คือ

1) DTaP-IPV (Tetraxim, Infanrix-IPV) เปลี่ยนวัคซีนไอกรนเป็นชนิดไม่มีเซลล์และวัคซีนโปลิโอเป็นชนิดฉีด หรือ

2) Tdap-IPV (Adacel-Polio, Boostrix-Polio) เป็นวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนสำหรับเด็กโตที่ลดปริมาณของวัคซีนคอตีบและไอกรน (ชนิดไม่มีเซลล์) เพื่อลดอาการข้างเคียง แต่อาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่สูงเท่ากับวัคซีน DTaP-IPV      

2.  วัคซีนอีสุกอีใส (VZV) หรือวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส ครั้งที่ 2 (MMRV2)

วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป

วัคซีนพื้นฐาน

1.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยักสำหรับเด็กโต (dT) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียวทุก 5-10 ปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก  วัคซีนเสริม 1.   วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนสำหรับเด็กโต (Tdap: Boostrix, Adacel) ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียวสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี โดยมีความแตกต่างจากวัคซีน dT คือเติมวัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์เพิ่มเข้าไป เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคไอกรนสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ และเป็นการช่วยควบคุมโรคไอกรนซึ่งกำลังกลับมาพบเพิ่มขึ้นในเด็กทารก เด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ 

2.   วัคซีนเอชพีวี (HPV) ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 10 ปีขึ้นไป จำนวน 3 เข็ม ห่างกัน 1-2 และ 6 เดือน วัคซีนเอชพีวีมีให้เลือกใช้ 2 แบบคือ

1) วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix) มีสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันซึ่งสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง และ

2) วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil) มีราคาสูงกว่า สามารถป้องกันเชื้อเอชพีวีได้อีกสองสายพันธุ์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก จึงมีประโยชน์สำหรับเด็กผู้ชายด้วย วัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ใกล้เคียงกัน  ปัญหาที่พบบ่อยหลังได้รับวัคซีน โดยทั่วไปวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง มีข้อห้ามใช้และข้อพึงระวังไม่มากนัก เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีข้อห้ามใช้สำหรับผู้ที่แพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง วัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์พึงหลีกเลี่ยงกรณีที่เด็กมีไข้สูง ชัก หรือร้องกวนหลังการได้รับวัคซีนครั้งก่อน เป็นต้น ปัญหาหลังการได้รับวัคซีนพบไม่บ่อยและมักเป็นปัญหาที่ไม่รุนแรง ปัญหาที่สำคัญคือ

1. อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนที่พบบ่อย ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดบวมเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีนและอาการไข้หลังฉีดวัคซีน มักพบภายใน 1-2 วันหลังฉีดวัคซีน อาการเหล่านี้พบได้ในวัคซีนเกือบทุกชนิด หายได้เองภายใน 2-3 วัน ผู้ปกครองสามารถรักษาตามอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ อาการข้างเคียงที่พบบ่อยรองลงมาคือ ผื่นผิวหนัง และถ่ายอุจจาระเหลว อาการข้างเคียงบางอย่างพบได้บ่อยหลังได้รับวัคซีนบางชนิดเท่านั้น เช่น วัคซีนไอกรนโดยเฉพาะวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์ทำให้เกิดอาการไข้สูง ชัก และร้องกวน วัคซีนหัดและวัคซีนอีสุกอีใสทำให้เกิดอาการผื่น

2. อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนที่มีความรุนแรง แม้อาการข้างเคียงเหล่านี้จะพบได้น้อยมาก แต่มีความรุนแรงและมักสร้างความกังวลใจให้กับผู้บริการวัคซีนและผู้ปกครองของเด็ก เช่น วัคซีนโรต้าโดยเฉพาะวัคซีนรุ่นเก่าซึ่งปัจจุบันไม่มีใช้แล้วทำให้โรคลำไส้กลืนกัน (intussusception) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่เรียกว่า กลุ่มอาการกีแลงบาเร่ (Guillin-Barre syndrome) วัคซีนโปลิโอชนิดหยอดทำให้เกิดอาการอัมพาต (VAPP) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตายทำให้เกิดอาการข้างเคียงระยะยาวทางระบบประสาท

วัคซีนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กระทรวงสาธารณสุข เรียกว่า วัคซีนพื้นฐาน ได้แก่

  • วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค ให้ตั้งแต่แรกเกิด
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และสามถึงสี่ขวบ
  • วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ให้พร้อมกับวัคซีนป้องกันโปลิโอ คือ เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และสามถึงสี่ขวบ อาจให้กระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 11-12 ปี
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ให้ 3 ครั้ง ตั้งแต่แรกคลอด อายุหนึ่งถึงสองเดือน และอายุ 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ให้เมื่ออายุ 1 ขวบ และอาจให้กระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ ให้เมื่ออายุ 1 ขวบ และให้กระตุ้นอีกครั้ง 3-12 เดือนถัดไป

วัคซีนที่อยู่นอกแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กระทรวงสาธารณสุข เรียกว่า วัคซีนเสริม ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อ H. influenza type B (HIB) ให้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และกระตุ้น 1 ครั้งช่วงอายุ 12-15 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือนถึง 1 ปี
  • วัคซีนป้องกันโรคสุกใส ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป และอาจให้กระตุ้นอีกครั้งช่วง 4-6 ขวบ
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
  • วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อ Streptococcus pneumoniae หรือที่เรียกว่า วัคซีนไอพีดี ให้ได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 1 ขวบ
  • วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโรตาไวรัสที่ทำให้เกิดท้องเสีย เป็นวัคซีนแบบหยอดทางปาก ให้ 2 หรือ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน

 

เพิ่มเพื่อน