ผวา"นกกระจอก"!พบติดหวัดนกแล้ว


ข่าวไข้หวัดนกจากหนังสือพิมพ์มติชน

ผวา"นกกระจอก"!พบติดหวัดนกแล้ว

ผู้ว่าฯราชบุรีสั่งชาวบ้านเฝ้าระวังไข้หวัดนก ล่าสุดพบเชื้อใน"นกกระจอก"แล้ว หลังสุ่มตรวจทั่วจังหวัด อยุธยาจัดสัปดาห์รับมือ หวั่นลามถึงเป็ดไล่ทุ่งรอบสอง เข้มถ้าพบต้องทำลายทั้งฝูง ส่วนนกอพยพหนีหนาวยังไม่พบว่ามีเชื้อ กรมอุทยานฯสุ่มตรวจทุกพื้นที่ที่นกมาแวะพัก ทั้งบึงบอดระเพ็ด สำนักสงฆ์บุรีรัมย์ เผยถ้าติดเชื้อคงไม่มีแรงบินไกลขนาดนี้ ขณะที่สธ.ผลิตได้แล้วยารักษาไข้หวัดนก เร่งรอบแรกให้ได้ 1 ล้านแค็ปซูล วางขายได้ปีหน้า องค์การเภสัชทุ่มงบ 35 ล้านตั้งเครื่องจักรทำเอง เกษตรฯกำหนด 5 มาตรการคุมทั่วประเทศ หากจังหวัดไหนพบว่าเสี่ยงให้ผู้ว่าฯสั่งปิดบ่อนไก่ชนทันที

อยุธยารับมือหวัดนก"เป็ด-ไก่ชน

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ฉีดยาฆ่าเชื้อและเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในเขตต.หลักชัย อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเขตติดต่อกับจ.นครปฐม ที่พบการระบาดของไข้หวัดนกในขณะนี้ ที่สำคัญในต.หลักชัยเคยพบการระบาดของไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นจ.พระนครศรีอยุธยาจึงเร่งดำเนินการป้องกันเต็มที่ โดยจัดสัปดาห์วันป้องกันโรคไข้หวัดนกระหว่างวันที่ 17-23 ต.ค. เน้นพื้นที่เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกคือ อ.ลาดบัวหลวง บางซ้าย ผักไห่ และบางบาล

นายนพพร แก้วกนิษฐารักษ์ ปศุสัตว์จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเข้าระบบฟาร์มปิดทั้งหมดแล้ว แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดคือการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง และการเลี้ยงไก่ชน ขณะนี้ในเขตจ.พระนครศรีอยุธยา มีเป็ดไล่ทุ่งประมาณ 60 ฝูง กระจายไปทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและขึ้นทะเบียนแล้ว โดยหากจะเคลื่อนย้ายสามารถย้ายได้ใน 3 จังหวัดเท่านั้นคือ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และการเคลื่อนย้ายทุกครั้งต้องขออนุญาตปศุสัตว์จังหวัดพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ที่จะย้ายไปก่อน

นายนพพรกล่าวต่อว่า สำหรับการเลี้ยงไก่ชนควบคุมลำบากมาก เพราะเลี้ยงกันมากและเลี้ยงแบบปล่อย อีกทั้งเคลื่อนย้ายบ่อย โดยเฉพาะการนำมาตีกัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายไก่ชนทำกันง่ายมากและเคลื่อนย้ายทีละไม่มาก ยากแก่การควบคุม

รายงานข่าวจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ภาคกลาง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมมีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจเก็บมูลสัตว์ปีก นกท้องถิ่นทุกชนิดเพื่อตรวจวิเคราะห์ และเน้นเก็บตัวอย่างมูลนกอพยพโดยเฉพาะ เช่น นกปากห่างที่จะเข้ามาประเทศไทยช่วงต้นฤดูหนาวนี้ และส่วนใหญ่จะเข้ามาหากินและขยายพันธุ์ในเขตภาคกลาง 7 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สระบุรี ลพบุรี และปทุมธานี ล่าสุดเคยสำรวจเมื่อกลางปี 2548 พบว่าพบเชื้อไข้หวัดนกในมูลนกปากห่างในเขตอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ราชบุรีพบเชื้อในนกกระจอก

วันเดียวกัน ที่จ.ราชบุรี หลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกบริเวณคลองชลประทานหมู่ 10 ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ส่งตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า นกกระจอกที่นำส่งตรวจมีเชื้อเอช 5 เอ็น 1 ประกอบกับจ.ราชบุรี มีพื้นที่ติดกับนครปฐม กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งพบเชื้อไข้หวัดนก ทำให้ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดไข้หวัดนก และการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในนกกระจอก ซึ่งเป็นนกหากินอิสระ และมีอยู่ทั่วทุกแห่งในประเทศไทยนั้น ทำให้กรมปศุสัตว์ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ควบคุมโรคไข้หวัดนก

นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ว่าฯราชบุรี กล่าวว่า จ.ราชบุรียังไม่ถือว่าเป็นพื้นที่สีแดง จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพียงแต่ให้ป้องกันและระวังตัวไม่สัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรง โดยพื้นฐานของการป้องกันนั้นชาวบ้านมีประสบการณ์จากครั้งก่อนอยู่แล้ว จึงทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของการรณรงค์เรื่องไข้หวัดนก ที่อาจจะเกิดขึ้นในรอบสอง

ไม่ยืนยันนกอพยพเป็นตัวแพร่เชื้อ

นายชวาล ทัฬหิกรณ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯได้เก็บตัวอย่างนกอพยพ และนกประจำถิ่นจากทั่วประเทศเพื่อตรวจหาเชื้อเอช 5 เอ็น 1 โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย.-7 ต.ค.ได้เก็บตัวอย่างนกมาตรวจหาเชื้อแล้ว 11,705 ตัวอย่าง พบว่า 18 ตัวอย่างมีเชื้อหวัดนก ซึ่งนกที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นนกกระจอกบ้าน นกสาลิกา นกพิราบ ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแถบภาคกลาง ที่มีการระบาดของเชื้อหวัดนกซ้ำซากในไก่และเป็ดไล่ทุ่งอยู่ในตอนนี้ แต่สำหรับนกอพยพยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อแต่อย่างใด ทั้งนี้ทางกรมอุทยานฯได้ส่งผลการตรวจให้กับทางกรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว เพื่อจะได้วางแผนและหามาตรการเฝ้าระวังรับมือกับโรคนี้ต่อไป

เมื่อถามว่าคิดว่านกอพยพจะเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อหวัดนกหรือไม่ นายชวาลกล่าวว่า ยังไม่ปักใจเชื่อเรื่องนี้ เพราะถ้านกป่วยหนักก็คงไม่สามารถบินอพยพมาไกลข้ามประเทศได้แน่นอน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ นกประจำถิ่นมากกว่าที่จะเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยเฉพาะนกกระจอก นกพิราบ นกเอี้ยง ที่บินระหว่างฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดที่มีการระบาดจะมีโอกาสติดเชื้อ และนำไปแพร่เชื้อได้มากกว่านกอพยพ

รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้จะยังไม่มีรายงานว่านกอพยพที่บินมาอาศัยในประเทศไทยในช่วงหน้าหนาวติดเชื้อหวัดนก แต่ทางกรมอุทยานฯก็สั่งเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และบริเวณอุทยานแห่งชาติต่างๆที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว ด้วยการสุ่มตรวจหาเชื้อหวัดนกอย่างต่อเนื่อง

สธ.ผลิตได้แล้วยารักษาหวัดนก

น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมมีความพร้อมในการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกที่ได้ผลดีที่สุด ซึ่งขณะนี้มีการสั่งสารตั้งต้นชื่อ เอพี ไอ จากบริษัทเฮทเทอโร ประเทศอินเดีย จำนวน 5 กิโลกรัม มูลค่า 9 แสนบาท เพื่อนำมาผลิตเป็นยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดแคปซูล โดยสารตั้งต้น 1 กิโลกรัม ผลิตได้ 1 หมื่นแคปซูล คาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้อย่างเป็นทางการภายในเดือนต.ค.2549 ส่วนสิทธิบัตรของยาดังกล่าว เนื่องจากโรคไข้หวัดนกมีความรุนแรง และยาโอเซลทามิเวียร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทางกรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือหารือไปยังกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร

"เมื่อได้สารตั้งต้นเข้ามาจะมีการทดลองความคงตัวของยา และความแตกตัวของยา ก่อนที่จะจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้หากเกิดการระบาดในประเทศไทยก่อนที่จำหน่าย เราก็จะผลิตเพื่อมารักษาผู้ป่วยไทยทันที หากองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาได้เอง จะทำให้สามารถลดต้นทุนได้จากซื้อยาที่มีสิทธิบัตรอยู่เม็ดละ 120 บาท หรือ 1,200 บาทต่อคน เหลือเม็ดละ 40 บาท มีค่าใช้จ่ายเพียง 400 บาทเท่านั้น" น.พ.ธวัชกล่าว

ผลิตล็อตแรกกว่า6แสนแคปซูล

น.พ.ธวัชกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ทางคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชฯ ได้อนุมัติงบประมาณในการสั่งซื้อเครื่องจักรในการผลิตยาดังกล่าวมูลค่า 35 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องสร้างโรงงานใหม่ให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีมารองรับ เนื่องจากเป็นการผลิตใช้รักษาภายในประเทศ โดยขณะนี้กรมควบคุมโรคได้สำรองยาโอเซลทามิเวียร์ 6.6 แสนแคปซูล และกำลังมีการสั่งซื้อจากบริษัทโรชเข้ามาอีก ซึ่งจะได้รับยาจำนวน 3.4 หมื่นแคปซูลในเดือนก.พ.2549

น.พ.ธวัชกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในส่วนของความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก ทางกรมควบคุมโรคได้ขอวัคซีนเชื้อต้นแบบ จากห้องปฏิบัติการองค์การอนามัยโลกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเชื้อที่นำมาจากประเทศเวียดนาม และทางสหรัฐได้นำเชื้อดังกล่าวไปพัฒนาจนเกือบจะสำเร็จเป็นวัคซีนแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ติดต่อกับมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ให้แยกวัคซีนดังกล่าวออกมาให้ได้ 30,000 ถึง 100,000 โดส เพื่อนำกลับมาทดลองทางคลินิกระยะ 2 เพื่อวิจัยต่อไป ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้

"ขณะนี้เราไม่รอให้ประเทศอื่นๆมาขอความร่วมมือในการทดลองกับคนไทยอีกแล้ว เราจะไม่ยืมจมูกใครหายใจ เราจะทำการวิจัยเอง ทั้งนี้ล่าสุดมีการติดต่อให้มีการทดลองวัคซีนไข้หวัดนกในคนไทยเป็นระยะ 3 อย่างไรก็ตามกำลังทำร่างข้อตกลงเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่พิเศษกว่าท้องตลาด และที่สำคัญคือการสำรองยาให้กับประเทศไทยด้วย ซึ่งเราไม่ได้ใจง่าย แต่เราก็อยากจะร่วมมือกับสหรัฐ แต่ถ้าไม่ให้ประโยชน์กับคนไทยไม่สำรองยาให้ก็คงจะไม่ร่วมมือด้วย" น.พ.ธวัชกล่าว

กษ.กำหนด5มาตรการกันระบาด

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างตรวจไข้หวัดนกที่อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ว่า การควบคุมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั่วประเทศจากนี้ กำหนดให้ทุกพื้นที่ดำเนิน 5 มาตรการป้องกันคือ 1.เอกซเรย์หาเชื้อ 2.ควบคุมการเคลื่อนย้าย 3.ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อไข้หวัดนกที่มีประวัติระบาด 4.ควบคุมเส้นทางการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง และ5.รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวในการป้องกันโรค ซึ่ง 5 มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อการป้องกันและหลังจากนี้ กระทรวงจะออกมาตรการป้องกันอีก

ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกโดยเฉพาะเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งมีเลี้ยงกันมากในภาคกลาง เพื่อแก้ปัญหาให้กรมปศุสัตว์กำหนดเส้นทางการเลี้ยงให้ห่างจากชุมชน นอกจากนี้จะใช้งบประมาณบางส่วนของงบปรับโครงสร้างภาคการผลิตทางการเกษตร ที่มีประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งให้เข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งจ่ายชดเชยให้เกษตรกร ที่ต้องการเลิกอาชีพเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง โดยทั้งหมดให้กรมปศุสัตว์ไปหารือกับจังหวัดที่มีเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรฯจะเร่งจัดทำแผนการตลาดให้แก่ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งที่ปรับการเลี้ยงเข้าสู่ระบบฟาร์ม โดยพัฒนาคุณภาพเนื้อเป็ดเทียบเท่าเป็ดปักกิ่ง

จี้ผู้ว่าฯปิดบ่อนไก่ชนในพื้นที่เสี่ยง

ส่วนกรมปศุสัตว์ให้สุ่มตรวจเชื้อในเป็ดไล่ทุ่งทุกฝูง หากพบเชื้อให้ทำลายทั้งฝูงทันที และให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดปิดสนามไก่ชนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด เพื่อให้การควบคุมการเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้อกังวลว่าจะมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกจากคนสู่คนนั้น เร็วๆนี้กรมปศุสัตว์จะออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียว แยกระยะการเลี้ยงให้เป็นกลุ่มอย่างชัดเจนโดยเฉพาะสัตว์ปีกกับสุกร

-"บุรีรัมย์"พ่นยากันโรคจากนกอพยพ

วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. นายใหญ่ โรจน์สุวณิชกร ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายพจน์ภิรัตน์ เนียมจุ้ย ปศุสัตว์จังหวัด และน.พ.ไพศาล วรสถิตย์ รองสาธารณสุขจังหวัด ระดมชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก ออกฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในสำนักสงฆ์บ้านดอนใหญ่ ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากช่วงนี้มีอพยพหนีหนาวจากไซบีเรียเข้ามาทำรังวางไข่กว่า 60,000 ตัว เกรงว่าจะนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาด้วย ซึ่งปีนี้มีนกอพยพมาทำรังวางไข่กว่า 500 รัง

พระอาจารย์ภูวนัย กะตะสาโร รักษาการเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ดอนใหญ่ กล่าวว่า นกยางเริ่มอพยพมาอาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์แห่งนี้เมื่อปี 2537 และเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีนกยางมาทำรังวางไข่เป็นประจำทุกปี ซึ่งหาชมได้ยาก ในปีนี้มีมากกว่า 500 รัง ด้านการป้องกันโรคระบาดนั้น ประสานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและเก็บตัวอย่างนกเพื่อตรวจหาเชื้อ ป้องกันโรคไข้หวัดนกระบาดอย่างต่อเนื่อง

-นครศรีฯคุมเข้ม-ห้ามเคลื่อนย้าย

ด้านน.สพ.เชาวลิต ธานีโต ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มีมาตรการคุมเข้มในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ซึ่งสัตว์ปีกที่เคลื่อนย้ายเข้า-ออกจ.นครฯ จะต้องมีใบอนุญาตถูกต้องหากไม่มีจะจับกุมทันที แต่สิ่งที่เป็นหว่งก็คือการลักลอบเคลื่อนย้าย ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้านกกระทา ที่อ.ท่าศาลา จ.นครฯ เมื่อไปตรวจสอบก็ขายหมดแล้ว ตรงนี้จะต้องมีการดูแลอย่างมาก ส่วนการตรวจสอบอื่นๆที่ผ่านมาได้มีการเอกซเรย์หาเชื้อไข้หวัดนกก็ไม่พบแต่อย่างใด ส่วนสนามชนไก่ในจ.นครฯ ที่มีอยู่ประมาณ 46 แห่งนั้น ก็มีการเข้าไปตรวจสอบตลอดและไก่ชนทุกตัวจะต้องมีบัตรประจำตัว และหากว่าพบเชื้อไข้หวัดนกในภาคใต้ทางผู้ว่าฯนครฯ ก็จะสั่งปิดสนามไก่ชนทันทีเพื่อป้องกันการระบาด แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่พบและไม่มีปัญหายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

เพิ่มเพื่อน