การเลิกสูบบุหรี่ด้วยตัวเอง


เพราะในบุหรี่หรือยาสูบมีสารนิโคติน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท-สมอง มีฤทธิ์การเสพติดสูงมาก การสูบบุหรี่ทำให้สมอง และระบบประสาทส่วนกลางได้รับสารนิโคตินรวดเร็วมากคือประมาณ 6 วินาที เร็วกว่าการได้รับยาเสพติดอื่นๆ เร็วกว่าการฉีดเฮโรอินเข้าเส้นเลือดเสียอีก

เมื่อสมองและระบบประสาทส่วนกลางได้รับสารนิโคตินอย่างรวดเร็วง่ายดายและฤทธิ์เสพติดของบุหรี่ ทำให้มีความพอใจ มีความอยากบุหรี่เมื่อระดับนิโคตินในเลือดลดต่ำลง

แต่โดยที่การสูบบุหรี่ส่วนหนึ่งเป็นการติดพฤติกรรม หรือความเคยชินต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่คุ้นเคยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ยากต่อการละ-เลิก แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ หากเราต้องการจะเอาชนะใจตนเองให้ได้

เลิกสูบบุหรี่แล้วดีอย่างไร

ในสัปดาห์แรกที่เลิกสูบบุหรี่ จะมีอาการอยากบุหรี่อยู่ สัปดาห์ต่อมาอาการอยากจะน้อยลง ความอยากจะหายไปและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จริงจัง ตั้งใจเลิกพฤติกรรมที่เคยชินต่อการสูบบุหรี่ เช่น ดื่มกาแฟ ดื่มสุรา นั่งเล่นที่โต๊ะอาหารหลังอิ่ม หากคุณคิดอยากเลิกสูบบุหรี่ คงอยากทราบว่าโดยทั่วไปมีวิธีอะไรบ้าง

  1. การดูแลตัวเอง พร้อมความตั้งใจสูง กำลังใจของผู้ต้องการเลิกบุหรี่เอง และบุคคลรอบข้าง
  2. การให้สุขศึกษา เข้าคลินิกอดบุหรี่ อาจเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล
  3. การใช้ยาช่วยระงับ ลด อาการเครียด เช่นยานอนหลับ
  4. การใช้สารนิโคตินทดแทน ในรูปแบบต่างๆเช่นหมากฝรั่ง แผ่นแปะผิวหนังนิโคติน
  5. การฝังเข็มช่วยลดอาการอยาก คลายอาการหงุดหงิด
  6. รับคำปรึกษาจากแพทย์
  7. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
  8. การใช้สื่อต่างๆสร้างพลัง-กำลังใจ การรวมกลุ่มโปรแกรมอดบุหรี่สำหรับชุมชน

เมื่อคุณเลิกบุหรี่

ร่างกายและปอดของคุณจะปลอดจากสารพิษในควันบุหรี่ ปอดจะโปร่งจากนิโคติน สารทาร์หรือน้ำมันดิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซและสารเคมีอื่นๆอีกหลายพันชนิด ทางเดินหายใจจะรู้สึกโล่ง สะดวกกว่าเดิมภายใน 2 สัปดาห์ เสมหะจะลดลง ลดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ เนื่องจากไม่มีควันบุหรี่ที่เป็นสารก่อระคายเคือง และเสี่ยงต่อการที่ทำให้ติดเชื้อมากขึ้น ที่สำคัญคือลดอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง

วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง

โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ เลิกได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือสารนิโคตินแทนบุหรี่ การใช้สารนิโคตินทดแทนมิได้หมายความว่าจะสามารถเลิกบุหรี่ได้ทุกคน ความตั้งใจจริง กำลังใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง การลดความเครียดช่วงที่อยากบุหรี่ ลดอาการอยากบุหรี่ เบี่ยงเบนความสนใจความอยากบุหรี่ได้

วิธีที่ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จแนะนำคือ

  1. เตรียมตัว ตั้งใจแน่วแน่ ว่าต้องเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เตรียมความพร้อมทังร่างกายและจิตใจ
  • ให้จดบันทึกเวลาและเหตุผลการสูบบุหรี่ จดเหตุการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่นการดื่มสุรา กาแฟ สูบขณะขับรถ
  • เปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเก็บบุหรี่ไว้อีกที่หนึ่ง ใช้มืออีกข้างสูบแทน ขณะสูบบุหรี่ไม่ต้องทำอะไรให้นึกว่าทำไมถึงสูบ
  • ให้สูบนอกอาคาร
  • เมื่ออยากสูบบุหรี่ให้รอสัก2-3 นาทีคิดเรื่องอื่นเพื่อเปลี่ยนความสนใจหรือเคี้ยวหมากฝรั่งและดื่มน้ำมากๆ
  • ซื้อบุหรี่ครั้งละซองและซื้อชนิดที่ไม่เคยสูบ
  1. กำหนดวัน"ปลอดบุหรี่"ของตนเองอาจจะเป็นวันสำคัญทางศาสนา วันเกิดของตนเอง หรือบุตร-ภรรยา ไม่ควรเลือกช่วงที่เครียด ควรหาใครบางคนรับรู้และคอยช่วยเหลือ
  2. แจ้งแก่คนในครอบครัว ที่ทำงาน นายจ้าง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้กำลังใจเป็นแรงสนับสนุนให้เลิกได้สำเร็จ
  3. เมื่อถึงวันสำคัญ ที่กำหนดแล้วว่า"วันปลอดบุหรี่"ให้หยุดเลย 
  • ทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระตุ้นให้อยากบุหรี่อีก
  • เปลี่ยนพฤติกรรม เช่นไม่ดื่มกาแฟ
  • ให้งดสุรา กาแฟ อาหารรสจัด ละเว้นการรับประทานอาหารให้อิ่มจนเกินไป 
  • ไม่ควรนั่งที่โต๊ะอาหารนานเกินไป เพราะหลังอาหารทุกมื้อจะอยากบุหรี่อีก 
  • ควรดื่มน้ำผลไม้ เช่นน้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะความเป็นกรดจะชะล้างนิโคตินออกไป
  • เมื่ออยากสูบบุหรี่ให้หางานอย่างอื่นทำ เคียวหมากฝรั่ง หรือไปในที่ๆสูบบุหรี่ไม่ได้ เช่นโรงหนัง รถเมล์ ขี่จักรยาน เดินเล่น โทรคุยกับเพื่อน
  • ให้รางวัลตัวเองเมื่ออดบุหรี่ได้โดยไปดูหนัง
  1. เมื่อเริ่มเลิกบุหรี่ได้แล้ว
  • ในช่วงแรกที่อดบุหรี่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้าออกลึกๆ ดื่มน้ำมากๆเพื่อลดความอยากหรืออาจจะอาบน้ำถ้าเป็นไปได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำเพื่อคลายเครียด เพราะส่วนใหญ่หลังเลิกบุหรี่ น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร อดอาหารหวาน ลดอาหารไขมัน จะเป็นการคุมน้ำหนักได้อีกทางหนึ่ง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำประจำตอนสูบบุหรี่ เลี่ยงสถานการณ์ สถานที่ที่เคยสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ฝึกปฏิเสธ ซ้อมพูดกับตัวเอง เพื่อนฝูง"ไม่ครับ" "ผมไม่สูบ""นายแน่มากที่เลิกสูบบุหรี่ได้"
  • ให้นึกถึงสิ่งที่ดีๆเมื่ออดบุหรี่ได้
  • เมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาให้หาทางแก้ไขและบอกตัวเองว่าบุหรี่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไปแล้ว
  • หยอดกระปุกให้ลูกเมื่อไม่ได้สูบบุหรี่
  • หากท่านล้มเหลวครั้งแรกให้พยายามใหม่ มีหลายคนที่สามารถประสบผลสำเร็จเมื่อมีความพยายาม
  • บอกเพื่อนร่วมงานหรือครับครัวว่า ห้ามสูบบุหรี่ใกล้ตัว ห้ามหยิบยื่นบุหรี่ ห้ามทิ้งบุหรี่ไว้ให้เห็น ห้ามชักชวนให้สูบบุหรี่
  • ปิดประกาศหน้าห้องว่า"เขตปลอดบุหรี่"
  • ใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่ๆสูบบุหรี่ไม่ได้
  • หลีเลี่ยงกาแฟ สุรา อาหารรสจัด

อาการที่เกิดขึ้นจากการอดบุหรี่ และวิธีแก้ไข

  1. หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากสูบบุหรี่จนแทบคุมไม่ได้เพราะร่างกายคุณติดนิโคติน และนี่เองเป็นสาเหตุให้คุณอยากสูบบุหรี่ การแก้ไข
  • ดื่มน้ำให้มากที่สุด ดื่มบ่อยๆเพื่อชำระนิโคตินออกจากร่างกายให้หมดไปให้เร็วที่สุด
  • ออกกำลังกาย เช่นเดินเร็วๆ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยผ่อนคลาย เหงื่อจะช่วยขับนิโคตินออกไป
  • อาบน้ำอุ่น และถูตัวด้วยผ้าขนหนูให้ทั่วตัวจะทำให้ผ่อนคลายได้ดี
  • พูดคุยกับคนข้างเคียงที่คุ้นเคย เพื่อระบายความหงุดหงิดออกไปบ้าง
  • งดเว้นอาหารจากเนื้อสัตว์ อาหารติดมัน และอาหารรสจัดต่างๆ
  1. ง่วง กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิในการใช้ความคิด การแก้ไข
  • นอนหลับ หรือนั่งเพื่อผ่อนคลายในห้องที่เงียบๆ ฟังเพลงเบาๆผ่อนความรู้สึกสับสนออกไป
  • งดเว้นงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ
  • พักร้อนหรือลาครึ่งวันเพื่อพักผ่อน
  • ดื่มนมอุ่นๆ


  1. โกรธ ขุ่นเคืองง่าย การแก้ไข
  • อดทนกับอารมณ์ของตัวเอง บอกคนข้างเคียงให้ทราบ และขอร้องให้อดทน เข้าใจคุณ
  • แสดงออกในทางสร้างสรรค์ เช่นเต้นรำ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย
  • ถ้าทนไม่ไหวให้ทุบหมอน ชกหมอน เข้าห้องน้ำตะโกนก็ช่วยได้
  • เขียนระบายความรู้สึกในสมุดบันทึก
  • คุยปัญหากับเพื่อนสนิท
  1. หมดแรง ปวดศีรษะ ไอมีเสมหะ เจ็บคอ หายใจผิดปกติ บุหรี่เป็นตัวกระตุ้น เมื่อไม่ได้สูบทำให้หมดแรงเป็นธรรมดา วิธีแก้ไข
  • หากิจกรรมที่กระตุ้นความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น เช่นออกกำลังกาย เต้นรำ
  • พักผ่อนด้วยวิธีการนอนหรือออกไปสูดอากาศธรรมชาติ
  • ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำผลไม้จะช่วยให้ชุ่มคอ
  • รับประทานยาแก้ปวด

อาการทางกายเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเพื่อปรับตัวสู่ภาวะปกติเท่านั้น อย่าตกใจ อาการจะเป็นชั่วคราวประมาณ 72 ชั่วโมงเท่านั้น

การสูบบุหรี่ | สารพิษในบุหรี่ | ผลเสียของการสูบบุหรี่ | บุหรี่มือสอง | นิโคติน | การหยุดสูบบุหรี่ | โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ | ข้อดีของการเลิกบุหรี่

ทบทวนวันที่ 18/2/2566

โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

Google
 

เพิ่มเพื่อน