การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระไม่ได้ลดการเกิดโรคหัวใจ

เป็นที่เชื่อกันมาหลายปีว่า การรับประทานวิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามินที่บอกว่าต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ จนกระทั่งมีการทำการตลาดอย่างกว้างขวาง มีการขายตรงปีหนึ่งๆเป็นมูลค่ามากมาย แต่ได้มีการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน Arch Intern Med ว่าการรับประทานวิตามินต้านอนุมูลอิสระ ไม่ได้ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากการศึกษาที่เรียกว่า Women's Antioxidant Cardiovascular Study (WACS), โดย Dr Nancy R Cook จากมหาวิทยาลัย Brigham and Women's Hospital and Harvard Medical School, Boston, MA ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยจำนวนประมาณ 8171 คนโดยแต่ละคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อย 3 ข้อ (อ่านความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ที่นี่) หรือเคยมีประวัติเกิดโรคหลอดเลือด โดยการให้รับประทานวิตามิน C,E หรือทั้งสองชนิด เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน โดยดูอัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือการสวนหัวใจ

ผลการศึกษาพบว่า อัตราการเกิดโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมองของคนที่ได้วิตามินและคนที่ไม่ได้วิตามิน ไม่มีความแตกต่างกัน จึงสรุปได้ว่าการรับวิตามินต้านอนุมูลอิสระไม่ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผู้วิจัยได้กล่าวว่าจากการศึกษาที่ผ่านมาผู้ที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินต้านอนุมูลอิสระ จะลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความเห็นของผู้เขียน

เนื่องจากการศึกษานี้ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และกลุ่มที่เกิดโรคหลอดเลือดมาแล้วซึ่งหลอดเลือดอาจจะมีการตีบตันบ้างแล้ว ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินต้านอนุมูลอิสระจึงได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร หากรับประทานอาหารต้านอนุมูลอิสระตั้งแต่อายุน้อยน่าจะได้ผลดี

แหล่งอ้างอิง

Cook NR, Albert CM, Gaziano JM, et al. A randomized factorial trial of vitamins C and E and beta-carotene in the secondary prevention of cardiovascular events in women: Results from the Women's Antioxidant Cardiovascular Study. Arch Intern Med 2007;167:1610-1618.