การตั้งครรภ์เดือนที่4

การเจริญและการพัฒนาของทารกเดือนที่4

ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อวัยวะต่างๆบนใบหน้าที่มีการพัฒนาไปจนเกือบสมบูรณ์ มีแขนขานิ้วมือนิ้วเท้าที่ชัดเจน และมีรูปร่างที่ได้สัดส่วนมากขึ้น ทำให้ทารกในขณะนี้ดูมีรูปร่างของมนุษย์มากขึ้น ความยาวจากศีรษะถึงสะโพกตอนนี้จะยาวประมาณ 12 เซนติเมตร (4 3/4 นิ้ว) น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 130 กรัม (4 1/2 ออนซ์)

การตั้งครรภ์เดือนที่4

  • ผิวหนังเด็กจะมีสีชมพูและใส ขนคิ้วและขนตาเริ่มงอก เริ่มมีการสร้างหูชั้นนอก
  • หน้าตามีการพัฒนาเพิ่มขึ้น คอยาวขึ้นทำให้หน้าและลำตัวแยกจากกัน ศีรษะจะมีขนาดเล็กลงประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว
  • แขนขาและนิ้วมือนิ้วเท้านั้นมีการพัฒนารูปร่างไปมาก และได้สัดส่วนเกือบสมบูรณ์ ตอนนี้ขาเริ่มยาวมากกว่าแขน และที่ปลายนิ้วมือมีเล็บขึ้นมาแล้ว อีกทั้งเริ่มมีลายนิ้วมือแล้วด้วย
  • เด็กทารกวัยนี้จะสามารถลืมตา กลืนน้ำ มีการนอน ตื่น การเคลื่อนไหว แตะ คุณแม่จะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวนี้ได้เรียก quickeningให้จดวันที่เด็กเริ่มเคลื่อนไหวไว้ ให้แพทย์ประกอบการพิจารณาวันกำหนดคลอด
  • ทารกจะดูค่อนข้างผอมเนื่องจากไม่มีชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ห่อหุ้มร่างกายทำให้ผิวบางมากจนมองทะลุเข้าไปเห็นหลอดเลือดที่ผิวหนัง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผู้ตั้งครรภ์

เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะ วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดขนาดของมดลูก วัดความยาวของมดลูก ซึ่งจะต้องตรวจทุกครั้งที่ผู้ป่วยมาฝากครรภ์



อาการโดยทั่วไปของคนท้องจะดีขึ้นเช่น

  • อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการปัสสาวะบ่อย คัดเต้านม อาการต่างๆเหล่านี้จะลดลง แต่มีอาการที่คงอยู่เช่น แน่นท้อง ท้องผูก ปวดศีรษะ
  • นอกจากนั้นยังมีอาการที่เกิดขึ้นใหม่ เช่นคัดจมูก เลือดกำเดาไหล หูอื้อ เลือดออกตามไรฟัน หลังเท้าบวมเล็กน้อย เส้นเลือดขอดที่ขา อาจจะมีริดสีดวงทวาร
  • ตกขาว  มีตกขาวเหนียวข้น หากคุณแม่มีตกขาวที่เหนียวข้นมากขึ้นเหมือนในช่วงก่อนจะมีรอบเดือนไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การติดเชื้อหรือการอักเสบ ตกขาวนี้อาจมีมากจนคุณแม่ต้องใช้แผ่นอนามัยเพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น แต่อย่าใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอดเพราะจะมีการสะสมของเชื้อโรคได้ หากตกขาวมีสีเปลี่ยน หรือมีกลิ่นแสดงว่ามีการติดเชื้อ ให้พบแพทย์
  • ในระยะนี้สมควรที่จะชุดคลุมท้องและเตรียกยกทรงหากเต้านมมีขนาดเพิ่มขึ้น แพทย์จะเริ่มได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจเด็ก
  • แสบลิ้นปี่ (Heartburn) เป็นอาการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหาร เนื่องมาจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นดันกระเพาะอาหารขึ้นไป และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้กล้ามเนื้อของหลอดอาหารขยายตัว จึงมีกรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปได้ ซึ่งจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และบริเวณทรวงอก วิธีการที่จะช่วยให้อาการเหล่านี้ทุเลาทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารทอด และอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง ดื่มน้ำมากๆจะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และอย่ารับประทานอาหารเมื่อคุณแม่กำลังจะเข้านอน หรือกำลังจะนอนพักตอนกลางวัน การนอนในท่าที่ศีรษะสูงอาจช่วยลดอาการลงได้ และอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดตามที่แพทย์สั่ง
  • ระยะนี้คุณแม่จะหิวบ่อยขึ้น แนะนำให้รับประทานอาหารบ่อยขึ้น แต่ไม่แนะนำให้รับประทานปริมาณอาหารเพิ่ม อาจจะบ่อยเพิ่มเป็นสองเท่า และควรจะรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อแม ่และลูกหากเป็นไปได้ให้จดชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานเพื่อเปรียบเทียบกับอาหารมาตรฐานหรือนำไปปรึกาแพทย์ อารมณ์ช่วงนี้ยังผันผวนเสื้อผ้าเดิมเริ่มคับ หลงลืมบ่อย


น้ำหนักคุณแม่เริ่มเพิ่มขึ้น

ในระยะแรกของการตั้งครรภ์น้ำหนักอาจจะไม่เพิ่มเนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง แต่เมื่อย่างเข้าระยะนี้น้ำหนักควรจะเพิ่มสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม แต่ระยะใกล้คลอดน้ำหนักอาจจะไม่เพิ่มหรือลดลงซึ่งเป็นเรื่องปกติ คนปกติเมื่อตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10-17 กิโลกรัม สำหรับครรภ์แผดอาจจะเพิ่มประมาณ 17 -20 กิโลกรัม โดยเป็นน้ำหนักทารก 3-4 กิโลกรัม น้ำหนักรกและน้ำคร่ำ 1.5-3 กิโลกรัม ไขมัน น้ำ และเลือดประมาณ 7-8 กิโลกรัม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับพ่อบ้าน

เริ่มกังวลกับภาระรายจ่าย และกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงดู เริ่มเก็บเงินได้แล้วครับ เตรียมตัวศึกษาวิธีการเลี้ยงเด็กได้แล้ว คุณแม่เล่าเรื่องที่ไปตรวจครรภ์ให้พ่อบ้านฟัง รวมทั้งนำเอกสารต่างให้พ่อบ้านดูและชวนพ่อบ้านให้เข้าร่วมฟังการแนะนำที่โรงพยาบาลจัดขึ้น เพื่อพ่อบ้านจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือ การดูแลเด็ก บทบาทของพ่อบ้านช่วงนี้ได้แก่

  • หากสูบบุหรี่ต้องงดบุหรี่โดยเด็ดขาดทั้งคุณแม่และพ่อบ้าน
  • รับประทานอาหารที่มีคุณภาพทั้งคู่ ไม่รับประทานอาหารจานด่วน
  • ช่วยงานบ้าน งานครัว
  • วางแผนซื้อของใช้
  • วางแผนการใช้จ่าเงิน

การตรวจร่างกายคุณแม่

หากคุณแม่ไปฝากครรภ์แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

  • ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดเพื่อว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
  • ตรวจวัดระดับความดันโลหิต
  • ตรวจหน้าท้องว่ามดลูกมีการเติบโตตามระยะหรือไม่
  • ชั่งน้ำหนัก
  • การตรวจน้ำคร่ำจะทำเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี

สัปดาห์ที่ 13 14 15 16

เพิ่มเพื่อน

 

เดือนที่3 เดือนที่5