อาหารกับโรคหอบหืด

โรคหอบหืดเป็นโรคที่เกิดจากภูมิแพ้ ได้แก่แพ้อากาศ มลภาวะ บุหรี่ สารเคมี และอาหาร อาหารหลายชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดความรุนแรงของโรคหอบหืดมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และ มีผลต่ออาการของโรคหอบหืดได้ก็คืออาหาร

เมื่อเราทราบวิธีการใช้ยา และวิธีการรักษาแล้ว การทราบถึงสิ่งกระตุ้นจากอาหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ควรจะทราบว่าอาหารที่ทำให้หอบหืดดีขึ้น และเลวลง

โรคหอบหืด

สิ่งที่กระตุ้นอาการของโรคหอบหืดที่สำคัญที่สุดได้แก่

 

  • การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • เรื่องการเปลี่ยนแปลงของอากาศ อุณหภูมิและความชื้น
  • การได้รับสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
  • การออกกำลังกาย
  • สิ่งแวดล้อม
  • อารมณ์
  • และอาหารบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีซัลไฟท์ จะเป็นอาหารที่กระตุ้นโรคหอบหืดโดยตรง

อาหารที่กระตุ้นโรคหืด ที่ได้บ่อยๆได้แก่ นม ถั่วลิสง ถั่วอื่นๆ ข้าวสาลี ปลาและหอย หากสังเกตจะพบว่า อาหารที่เป็นตัวกระตุ้นนั้น มักเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่

สารผสมอาหาร

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดส่วนใหญ่จะมีความระแวดระวังอยู่พอควรในการเลือกรับประทานอาหาร สารอาหารที่ประกอบด้วยซัลไฟท์ ซึ่งพบได้บ่อยในผลไม้แห้ง ผักกาดแห้ง ผักดอง เครื่องเทศ ไวน์ เบียร์ น้ำมะนาว สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้โรคหอบหืดมีความรุนแรงเพิ่ม รวมทั้งสารประกอบอื่นๆเช่น สีผสมอาหาร โดยเฉพาะสีเหลืองสารกันบูด ผงชูรส ดินประสิว(ซึ่งพบมากในแหนม)ก็อาจจะทำให้อาการของโรครุนแรงได้เช่นกัน

ซัลไฟท

เป็นสารที่ใช้เคลือบผิวอาหาร โดยเฉพาะผลไม้ เพื่อให้สอเสมอและต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้น ต้องระวังอาหารที่มีลักษณะผิวมันๆเรียบๆสวยๆ ซึ่งผู้ป่วยที่แพ้สารนี้จะมีอาการหอบและช็อคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น และสารนี้จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของหืดแย่ลง

องค์การอาหารและยาไม่อนุญาตให้ใช้ซัลไฟท์ในการเคลือบผักสด ผลไม้(ยกเว้นมันฝรั่ง) และอาหารที่เคลือบด้วยสารประกอบซัลไฟท์จะต้องมีแสดงให้เห็นในฉลากบรรจุอาหารเสมอ ดังนั้นเวลาเลือกอาหารต้องดูฉลากด้วยว่า มีส่วนผสมที่จะทำให้แพ้หรือกระตุ้นโรคหืดให้มีอาการแย่ลงหรือไม่

ผงชูรสโมโนโซเดียมกลูตาเมท

มีรายงานว่าทำให้คนจำนวนเล็กน้อย ที่มีอาการผิดปติหลังรับประทานผงชูรส ถ้าอาหารที่มีผงชูรสต้องมีฉลากบอกว่ามีผงชูรสติดอยู่ โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จต่างๆเช่น มะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่วนน้ำตาลเทียมมีบางคนกล่าวว่าแพ้น้ำตาลเทียม แต่ในการศึกษาจริงๆไม่มีผลต่อปฏิกิริยาแพ้อย่างชัดเจน

ภาวะแพ้อาหารกับโรคหอบหืด

ผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอุบัติการณ์ของภาวะแพ้อาหารประมาณ 52%เมื่อเทียบกับปกติพบมากกว่าคือคนปกติพบได้ 27% ผู้ป่วยโรคหืดที่แพ้อาหารจะมีอาการหอบเฉียบพลันสูงถึงประมาณ 10% และมีอาการช็อค อะนาฟัยแลกซิสสูงถึง 5% ที่สำคัญไม่มีใครบอกได้ว่าใครรับประทานอะไรแล้วจะแพ้ในลักษณะเช่นนี้

ผู้ป่วยโรคหืดที่มีระดับของปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่ออาหารชนิด IgE สูงจะมีแนวโน้มที่ต้องใช้ยาพ่นขยายหลอดลมเป็นประจำ ผู้ป่วยหืดที่แพ้อาหารจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคหืด ดังนั้นผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะแพ้อาหารจึงควรพกยาติดตัวเสมอ อันดับแรกคือยาขยายหลอดลมที่กันอยู่ประจำ และยาช่วยชีวิตเช่น Epinephrineซึ่งเป็นยาช่วยชีวิตสำหรับคนที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงและจำเป็นต้องมียานี้ติดตัวเป็นเข็มพร้อมยาสำหรับฉีดตัวเอง

การแพ้อาหาร

คือการที่มีปฏิกิริยาต่ออาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร โดยผ่านปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายคล้ายกับโรคหอบหืด อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เป็นสารประกอบประเภทโปรตีน ไม่ใช่ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน หรือเกลือแร่ เมื่ออาหารไปกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ IgE และ mast cells ตามลำดับ เซลล์พวกนี้ถูกกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้น เมื่อมีการกระตุ้นซ้ำ เซลล์ตัวนี้จะแตกตัวง่ายมากและเกิดสารพวกนี้อย่างรุนแรง

จาการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่จะมีอาการแพ้อาหาร แต่ทั้งนี้ก็พบเพียงไม่ถึง 2 %ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่พบพบในเด็กได้ 5% ในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาต่อนม ถั่วลิสง ถั่วอื่นๆ และข้าวสาลี สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะแพ้ถั่วลิสง ปลา หอยสองฝา และถั่วอื่นๆ

เมื่อสงสัยว่าแพ้อาหารอาจจะพิสูจน์ได้ง่ายๆโดยการหยุดรับประทานอาหารที่สงสัยสักหนึ่งหรือสองอย่าง แล้วดูว่ายังแพ้อยู่หรือไม่ สงสัยชนิดไหนก็หยุดชนิดนั้น และหากรับประทานอาหารชนิดนั้นแล้วแพ้อีก ก็แสดงว่าแพ้อาหารชนิดนั้นแต่การพิสูจน์ไม่ควรกินอาหารที่คิดว่าแพ้ เพราะอาจจะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างรุนแรงได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทดสอบให้แน่ใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่แพ้คือยาง ซึ่งยางพวกนี้จะพบได้ในผลไม้ โดยเฉพาะกล้วย อะโวคาโด กีวี ลูกเกาลัด สำหรับผลกีวีนั้น มีรายงานเรื่องของการแพ้บ่อยขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นอาหารที่อยู่ในหลายเมนูของคนไทย

การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 นาทีหลังรับประทานอาหารจนถึง 2-3 ชั่วโมง แต่คนที่ไวมากๆ เพียงได้กลิ่นหรือสัมผัสอาหารที่แพ้ ก็สามารถแสดงปฏิกิริยาได้ โดยการแพ้อาหารจะผันแปรได้มากในแต่ละบุคคล และในคนคนเดียวกันจะมีปฏิกิริยาการแพ้อาหารชนิดเดียวกันในแต่ละครั้งแตกต่างกันไป และความรุนแรงของการแพ้ก็ไม่เท่ากัน

อาการแพ้อาหาร อาการแพ้จะพบได้ที่ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ที่ผิวหนังจะมีอาการบวมบริเวณริมฝีปาก หนังตา ลิ้น ใบหน้า ผลต่อทางเดินอาหารนั้นจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ส่วนผลต่อทางเดินหายใจจะมีอาการ จาม ไอเรื้อรัง เยื่อบุจมูกบวม หายใจลำบากและหอบส่วนปฏิกิริยาแพ้รุนแรงชนิดอนาฟัยแลกซิสบางครั้งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

หลักในการวินิจฉัยโรค

เมื่อหยุดอาหารที่สงสัยแล้วไม่มีอาการ แต่เมื่อลองใหม่แล้วเกิดอาการซ้ำ หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการตรวจเลือดหาระดับปฏิกิริยานั้นๆ RAST TEST ถ้าใครแพ้อาหารประเภทไหนต้องเลี่ยงอาหารนั้นไปประมาร 1-2 ปีแต่อาหารบางรายการอาจจะแพ้ตลอดชีวิต จึงเน้นการหลีกเลี่ยงสารอาหารนั้น

วิธีการดูแลรักษา

ต้องให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ต้องชี้แจงโอกาสที่จะเกิดอาการและวิธีการรักษาที่เจาะจง ที่สำคัญที่สุดต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้รวมทั้งผู้ป่วยต้องอ่านฉลากลิตภัณฑ์อาหารด้วย เพราะปัจจุบันนี้ มีอาหารสำเร็จรูปค่อนขางมากเมื่อแปรรูปไปแล้วทำให้เราไม่ทราบว่ามีส่วนประกอบที่เราแพ้รวมอยู่ด้วยหรือไม่

อาหารต้านโรคหืด

เป็นอาหารที่ถูกกล่าวอ้างบ่อยๆว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันโรคหืดได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี และบีต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นอาหารเสริมที่มีธาตุซิลีเนียม แมงกานิส ทองแดง สังกะสี ผลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยในการรักษาโรคหืด แต่ในเด็กอาจจะลดปฏิกิริยาภูมิแพ้

สำหรับอาหารที่มีสาร Flavanoid ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกชนิดหนึ่งพบมากใน ชา แอปเปิล หัวหอม ไวน์แดง พบว่าไม่มีผลต่อการลดอาการของโรคหอบหืด นอกจากจะรับประทานแอปเปิลทุกวัน วันละ2-5 ผลอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด

ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวสูงจะมีความเสี่ยงต่อโรคหืดสูงกว่าผู้ที่รับประทานไขมันไม่อิ่มตัว

คัดลอกจากบทความของนพ.ณัฐสกล ภวนะวิเชียร

จดหมายข่าวชมรมผู้ป่วยโรคหืดแห่งประเทศไทย ฉบับที่35 กรกฎาคม-กันยายน 2546

โรคหอบหืด