การรักษาอาการทางผิวหนังของโรคเอสแอลอี SLE

 

    • ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดช่วงเวลา 10 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา และการใช้ครีมกันแดดที่มี sun protective factor (SPF) สูง ๆ อย่างน้อย SPF 30 ทุกวันไม่ว่าจะออกกลางแจ้งหรือไม่ และควรทาอย่างน้อย 30 นาที ก่อนออกกลางแจ้ง เพราะนอกจากผื่นในโรคSLEมักมีความไวต่อแสงแดด ถูกกระตุ้นการกำเริบได้ง่ายแล้ว แสงแดดยังสามารถกระตุ้นความรุนแรงโดยทั่วไปของโรคอีกด้วย
    ครีมกันแดด
    • ผู้ป่วยที่มีอาการผื่นอักเสบไม่รุนแรง มีการอักเสบน้อยเป็นบริเวณไม่กว้าง พิจารณาการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ ความแรงปานกลาง (intermediate strength) เช่น triamcinolone acetonide, betamethasone dipropionate ฯลฯ ส่วนจะใช้รูปแบบครีม โลชั่น หรือขี้ผึ้ง นั้นการเลือกใช้ขึ้นกับตำแหน่งผื่น
    • ควรให้ยาต้านมาลาเรียร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น
    • แต่ในกรณีที่ผื่นมีการอักเสบมาก และมีบริเวณของผื่นกว้างอาจใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น เพร็ดนิโซโลนในขนาด 0.125-0.5 มก/กก/วัน ร่วมด้วย
    • อาการผื่นลุปัสรุนแรงแต่เป็นบริเวณไม่กว้าง มีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่มานานหยุดยาไม่ได้ อาจพิจารณาการใช้ 0.1% tacrolimus ชนิดทาเฉพาะที่ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา และช่วยลดผลข้างเคียงของการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ในระยะยาว เช่น ผิวหนังฝ่อ รอยด่างขาว หรือการมีหลอดเลือดขยายตัว (telangiectasia)
    • อาการผื่นโรคเอสแอลอี SLEรุนแรง และเป็นบริเวณกว้าง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น อาจพิจารณายากดภูมิต้านทาน ได้แก่ methotrexate หรือ azathioprine ซึ่งเป็นยาที่แพทย์ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการใช้รักษาอาการผื่นผิวหนังและพบว่าได้ผลดี
    • ส่วนการรักษาด้วยยา cyclosporine A หรือ ยา mycophenolate mofetil (MMF) มีประสิทธิภาพในการรักษาผื่น ผื่นSLEเฉียบพลันและผื่นที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงในบางการศึกษา ดังนั้นในทางคลินิกอาจพิจารณา cyclosporine A หรือ ยา MMF เป็นทางเลือกกรณีที่ผื่นไม่ตอบสนองต่อการรักษาพื้นฐาน การใช้อิมูโกบูลิน ทางหลอดเลือดดำเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการผื่นรุนแรง มีรายงานในการศึกาขนาดเล้กพบว่าให้ผลดีในผู้ป่วยที่ผื่นSLEแบบกึ่งเฉียบพลัน สำหรับยากลุ่ม retinoids ได้มีการนำมาใช้ในการรักษาผื่นSLE แต่พบว่าผู้ป่วยมักมีผลข้างเคียงเมื่อใช้ยาระยะยาว และผื่นมักกำเริบหลังหยุดยาจึงไม่เป็นที่นิยม
      การศึกษายาใหม่ในการรักษาผื่นSLEที่รุนแรงไม่ตอบสนองต่อการรักษา มีการนำการรักษาโดยชีวะบำบัด (biologic therapy) มาใช้ มีการศึกษาการใช้ efalizumab (anti-CD11a monoclonal antibody) ในผู้ป่วยที่มีผื่นSLEกึ่งเฉียบพลันพบว่าได้ผลดี และมีรายงานการใช้ infliximab และ ethanercept (anti-TNFα agents ) ในผู้ป่วยที่มีอาการผื่นลุปัสรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตามการให้ anti-TNFα agents เป็นเวลานานผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อวัณโรค นอกจากนี้ anti-TNFα agents ยังสามารถกระตุ้นการกำเริบของผื่นลุปัสกึ่งเฉียบพลันได้จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยา