T"ทักษิณ" พร้อมฟันธงไทยไม่ใช้วัคซีนหวัดนกบนเวทีเอเปก โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2548 15:33 น.


 ทักษิณ ฟันธง ไทยไม่ใช้วัคซีนหวัดนก เตรียมประกาศจุดยืนในเวทีเอเปก "คุณหญิงสุดารัตน์" ระบุ เหตุผลปลอดภัยและประหยัดกว่า พร้อมเดินหน้าแผนแม่บทคุมหวัดนกให้ได้ใน 3 ปี เตรียมเปิดชนไก่ตามปกติ พร้อมเร่งวางระบบคอมพาร์ทเมนท์ หวังส่งออกไก่สดอีกครั้ง ด้าน สธ. คุย 1 ม.ค. 49 เป็นต้นไปไทยปลอดคนป่วยตายเพราะหวัดนก       ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาโรคไข้หวัด ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้ (16 พ.ย.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ข้อสรุปของที่ประชุมคือประเทศไทยจะยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทุกชนิด และหันมาใช้มาตรการปรับระบบการเลี้ยงอย่างยั่งยืนแทน ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศที่ว่าควรจะใช้วัคซีนในระยะหนึ่งภายใต้การควบคุมเข้มงวด ในกรณีที่มีการระบาดจนควบคุมไม่ได้     
สถานการณ์ของไทยในขณะนี้ยังถือว่าควบคุมได้ ที่สามารถลดจุดพบโรคจากกว่า 400 จุดในปีที่แล้วเหลือไม่เกิน 15 จุดในช่วงเดียวกันของปีนี้ ขณะที่การใช้วัคซีนนั้นมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของมนุษย์มากกว่า เนื่องจากจะไม่ได้ทำให้โรคหมดไป และสัตว์ยังรับและแพร่เชื้อได้ต่อไปโดยไม่ตาย อีกทั้งในด้านงบประมาณหากมีการใช้วัคซีนจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสัตว์จำนวนมากในประเทศ โดยเฉพาะไก่บ้านที่มีกว่า 43 ล้านตัว ทั้งนี้ ในกรณีนกสวยงาม นกหายากนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นผู้พิจารณาให้ใช้เป็นราย ๆ ไป        
"ที่ประชุมได้คำนึงถึงความปลอดภัยของมนุษย์เป็นที่ตั้ง ก็เลยเห็นว่า การใช้มาตรการทำให้เกิดความปลอดภัยในการเลี้ยงจะยั่งยืนและดีกว่า" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวและว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้นำมติที่ประชุมนี้ไปประกาศจุดยืนในที่ประชุมผู้นำเอเปก ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี ในปลายสัปดาห์นี้ด้วยว่า ประเทศไทยจะไม่มีการใช้วัคซีนไข้หวัดนกและยังมีมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติแผนแม่บทของทางกระทรวง ในการควบคุมไข้หวัดนกให้ได้ภายใน 3 ปี ที่อาจจะพบโรคบ้างแต่ไม่แพร่ระบาด โดยจะมีการเอกซเรย์พื้นที่เฝ้าระวังทั้ง 21 จังหวัด ปีละ 2 ครั้งในฤดูฝนเดือนพฤษภาคม และฤดูหนาวเดือนตุลาคมของทุกปี ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5-7 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าควบคุมโรคได้ เช่นเดียวกับมาตรการคุมโรคโปลิโอที่จะต้องใช้เวลาคุมโรคต่อเนื่องนานนับสิบปี นอกจากนี้ จะนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส เข้ามาควบคุมการดำเนินมาตรการของเจ้าหน้าที่ให้รัดกุมและโปร่งใส และมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกต่อไป

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า จะส่งเสริมการนำสัตว์ปีกเข้าเลี้ยงในระบบปลอดภัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นฟาร์มปิดแบบโรงงานใหญ่ โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ แยกสัตว์ปีกที่เลี้ยงออกจากนก อย่าให้สัมผัสกันใกล้ชิด ซึ่งจะให้การสนับสนุนเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงด้วย โดยตั้งใจไว้ว่าจะให้เกษตรกรร้อยละ 60 เข้าระบบภายในก่อนฤดูฝน และที่เหลือเข้าระบบทั้งหมดในสิ้นปี

นอกจากนี้ สำหรับไก่ชนเร็ว ๆ นี้จะเปิดให้ชนไก่ได้ตามปกติภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง ส่วนเป็ดไล่ทุ่งจะมีการช่วยเหลือด้านการเงินในการเข้าระบบ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ จะเร่งร่างกฎเกณฑ์ระบบการเลี้ยงแบบเขตสุขอนามัย หรือคอมพาร์ทเมนท์ การเลี้ยงไก่ของผู้ประกอบการให้เสร็จสิ้น เพื่อส่งเสริมการส่งออกไก่สดอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2549 และผ่านการรับรองระบบและเริ่มส่งออกไก่สดได้ตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป

ส่วน นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขทำโครงการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจการป้องกันตนเอง จากไข้หวัดนกมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดง ตั้งเป้าหมายหลังวันที่ 1 มกราคม 2549 จะต้องไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกในประเทศไทยอีก ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้สาธารณสุขทุกจังหวัดจัดทำแผนป้องกันเฝ้าระวังอย่างเต็มที่แล้ว

เพิ่มเพื่อน