วิธีการรักษาต้อหินเรื้อรัง

การรักษาต้อหินเรื้อรัง มี 3 วิธีหลัก

  1. ใช้ยา อาจเป็นยาหยอดตา หรือ ยารับประทาน ในบางคนอาจต้องหยอดยาหลายๆตัว บางคนอาจต้องใช้ทั้งยาหยอด และยารับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของจักษุแพทย์ ผู้ป่วยควรจะใช้ยาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์โดยเคร่งครัด
  2. ใช้แสงเลเซอร์ สำหรับต้อหินเรื้อรังการใช้แสงเลเซอร์สามารถช่วยให้ความดันตาลดลงได้ชั่วคราว จึงมักนิยมใช้ในผู้ป่วยก่อนที่จะตัดสินใจรับการผ่าตัด หรืออีกนัยหนึ่งการใช้เลเซอร์จะช่วยประวิงเวลาการผ่าตัดออกไป
  3. การผ่าตัด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดเมื่อยาไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ขาดยาเป็นประจำจนทำให้ตาค่อยๆมัวลง หรือผู้ป่วยบางรายอาจทนต่อผลข้างเคียงของยาหยอดตาไม่ได้

การใช้ยาหยอดตา

ยาหยอดตาที่ใช้รักษาต้อหินหากใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลข้างเคียง และไม่มีประสิทธิภาพวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องมีดังนี้

  • ตรวจชื่อยาว่าถูกต้องหรือไม่
  • ล้างมือให้สะอาด
  • เขย่ายาให้เข้ากัน
  • เอนตัวไปข้างหลัง
  • เหลือกตามองไปข้างบน
  • ดึงหนังตาล่างออกเพื่อเป็นแหล่งหยอดยา
  • หยอดยาลงบนหนังตาล่างแล้วปิดตา เอนนอน
  • อย่าให้ขวดยาถูกตา
  • กดที่หัวตาเบาๆ 2-3 นาที เพื่อมิให้ยาไหลลงในท่อน้ำตา
  • ใช้ผ้าเช็ดยาที่อยู่รอบตา
  • ล้างมืออีกครั้ง
  • หากต้องหยอดยาอีกชนิดหนึ่งให้รอ 5 นาทีค่อยหยอดชนิดใหม่
ชนิดยา ชื่อยา การออกฤทธิ์ ผลข้างเคียง
Beta blocker Ateoptic,Betaophtiole,

Betagan,Betoptic

glaucooph,nyolol

timolol,Fortil

ลดการสร้างน้ำเลี้ยงตา ทำให้หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตลดลง หอบหืดมากขึ้น ในคนที่เป็นหอบหืด
Carbonic anhydrase inhibitor Azopt,trusopt ลดการสร้างน้ำเลี้ยงตา ตามัว คันตา ตาแห้ง หากแพ้ยา sulfa ไม่ควรใช้Azopt
Miotic pilogel HS เพิ่มการไหลเวียน ของน้ำเลี้ยงตา มองไม่ชัดในที่มืด เนื่องจากรูม่านตาเล็ก
Postaglandin xalatan เพิ่มการไหลเวียน ของน้ำเลี้ยงตา มีการเปลี่ยนเป็นสี เป็นน้ำตาลของม่านตา
alfa adrenergic agonist alfagan ลดการสร้างน้ำเลี้ยงตา อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตามัว ปากแห้ง จมูกแห้ง
Sympathomimetic   เพิ่มการไหลเวียน ของน้ำเลี้ยงตา ปวดศีรษะ ตามัว

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดทุกชนิดจะมีความเสี่ยงแพทย์จะเลี่ยงการผ่าตัด แต่การผ่าตัดปัจจุบันก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี การผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดมุมปิดclose angle glaucoma หรือในรายที่ใช้ไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงของยา การผ่าตัดมักจะเลือกผ่าข้างใดข้างหนึ่ง การผ่าตัดมีสองชนิดใหญ่ๆคือ

Laser surgery

การผ่าตัดด้วยวิธี Laser แพทย์จะหยอดยาชาที่ตาหลังจากนั้นจะใช้พลังงานจากแสง laser เพื่อเปิดทางเดินน้ำเลี้ยงตา ขณะทำท่านอาจจะเห็นแสงเหมือนถ่ายรูป และมีอาการระคายเคืองตา การรักษาโดยวิธี laser จะลดความดันลูกตาเป็นการชะลอการผ่าตัด วิธีการผ่าตัก laser มีดังนี้

  • Laser peripheral iridotomy
  • Argon Laser Trabeculoplasty
  • Laser cyclophotocoagulation

หลังการผ่าตัดด้วย laser ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องใช้ยา บางรายอาจจะต้องผ่าตัดซ้ำ

Microsurgery

การผ่าตัดวิธีนี้เหมาะสมกับต้อหินทุกชนิดทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง การผ่าตัดอาจจะใช้ยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบ หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเดินและกลับบ้านได้โดยมีผ้าปิดตาและห้ามถูกน้ำ ห้ามออกกำลังกายอย่างหนัก ห้ามก้ม ดำน้ำ หรืออ่านหนังสือเป็นเวลา 1 สัปดาห์

หลังการผ่าตัดลูกตาท่านก็จะเหมือนปกติ จะมีรูเล็กๆที่ตาขาวซึ่งถูกหนังตาบนปิดบังอยู่

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นต้อหิน

  • จะต้องตรวจวัดความดันลูกตาทุกสัปดาห์ ทุกเดือนจนกระทั่งความดันในตากลับสู่ปกติ
  • ให้ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าความดันลูกตากลับสู่ปกติ จะหยุดเมื่อแพทย์สั่งให้หยุด
  • ให้ใช้ยาเวลาที่สะดวกที่สุด เช่นหลังตื่นนอน หรือก่อนนอน
  • หากท่านลืมหยอดยา ให้หยอดยาทันที่ที่นึกขึ้นได้
  • หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้
  • เตรียมยาสำรองหากต้องเดินทาง
  • จดชื่อยาที่ใช้รวมทั้งขนาดที่ใช้ไว้กับตัว
  • ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการหยอดยาที่ถูกต้อง
  • จดตารางการหยอดยา และยารับประทานไว้ที่ๆมองเห็นได้ง่าย
  • ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียง
  • เมื่อไปพบแพทย์ท่านอื่นต้องบอกว่าท่านเป็นต้อหินและกำลังใช้ยาอยู่
  • หากมีอาการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตาต้องรายงานแพทย์
  • ไปตามแพทย์นัด และให้แพทย์นัดครั้งต่อไป
  • หากไม่ได้ใช้ยาต้องบอกแพทย์ทุกครั้ง

การดูแลตา

  • สำหรับคุณผู้หญิงต้องใช้เครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • ห้ามขยี้ตาแม้ว่าจะเคืองตา
  • หากท่านมีการผ่าตัดตา ให้สวมแว่นกันฝุ่นหรือกันน้ำเวลาทำงานหรือว่ายน้ำ
  • ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารคุณภาพ ออกกำลังกาย งดบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ลดปริมาณกาแฟ ควบคุมน้ำหนัก
  • ลดความเครียด
  • เมื่อดื่มน้ำให้ดื่มครั้งละไม่มากแต่บ่อยๆได้

ทบทวน 04/2564

ต้อหิน อาการและชนิดต้อหิน การวินิจฉัย การรักษา